โฟกัสได้… อะไรก็ดีขึ้น 2/10

โฟกัสได้… อะไรก็ดีขึ้น

เช้าขึ้นมา เพื่อนสี่ห้าคนเริ่มสนทนากันขณะทานกาแฟก่อนถึงเวลาทำงาน

  • คนที่ 1 : เมื่อคืนฉันดูหนังนะ พระเอกขึ้นเฮลิคอปเตอร์
  • คนที่ 2 : นี่พูดถึงเฮลิคอปเตอร์แล้วนึกขึ้นได้ เธอจำรุ่นพี่เราที่เป็นนักวอลเลย์เก่งๆ ได้มั้ย ตอนนี้เขากำลังเรียนขับเครื่องบินเล็กเพราะว่า…
  • คนที่ 3 : เออ…เดี๋ยวนี้นักวอลเลย์ไทยไปเล่นอาชีพในต่างประเทศกันมากขึ้นแล้วนะ เห็นว่า…
  • คนที่ 4 : นี่ปีนี้ตกลงใครได้แชมป์พรีเมียร์ลีกนะ งานเยอะจนลืมตามข่าวเลย…
  • คนที่ 5 : เออ… ลืมโทรศัพท์สั่งเด็กที่บ้านให้เก็บห้องเก็บของ…

ตัวอย่างที่ยกมานี้อาจเกินความเป็นจริงไปบ้าง แต่เหตุการณ์ทำนองนี้มีให้เห็นทั่วไป คนพูดไม่มีโอกาสพูดจบ เพราะคนฟังฟังแล้วนึกถึงเรื่องของตนได้เกรงจะลืม จึงขอขัดจังหวะพูดเสียก่อนที่จะลืมและจะเป็นเช่นนี้กันแทบทุกคน เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า คนบางคนใส่ใจตนเองและเรื่องที่ตนคิดมากกว่าเรื่องของคนอื่น บางคนใส่ใจและรู้ว่าการฟังที่ดีและมีมารยาทคือ การฟังอย่างตั้งใจและฟังให้จบ แต่เผลอทำไปตามความเคยชินเพราะใครก็ทำกันอย่างนั้น

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของการสนทนาแบบไม่มีโฟกัส ผลก็คือ คนเริ่มบทสนทนาเล่าเรื่องที่เริ่มไว้ไม่จบตามที่ตั้งใจทำก็ทำไม่สำเร็จ ไม่เป็นไปตามที่โฟกัสไว้ เหมือนช่างภาพตั้งใจถ่ายภาพเดี่ยวครึ่งตัวของใครสักคน พอเริ่มจัดท่าทางเพื่อให้ได้ตามต้องการ มีคนมาเสนอความเห็นว่า น่าจะเป็นภาพคนสองคนยืนคุยกัน อีกคนหนึ่งเสนอว่า เกณฑ์คนมาให้เป็นร้อยๆ ให้เหมือนกองทัพให้ดูกระหึ่มใครก็พูดถึงอีกคนหนึ่งเสนอว่าจริงๆ น่าจะถ่ายรูปป่าดงดิบ เพื่อให้คนอนุรักษ์ป่าไม้และสนใจสูดอากาศบริสุทธิ์กันมากขึ้น 

ช่างภาพมีโฟกัสชัดเจนว่าจะถ่ายรูปเดี่ยวครึ่งตัว แต่คนอื่นไม่ใส่ใจอยากให้ไปโฟกัสตามความคิดเห็นของตนเอง ไม่ใส่ใจโฟกัสของคนพูดและไม่โฟกัสใจของตนเองให้ตรงกับโฟกัสของคนพูด จะได้รับผลเสียกับตัวเอง คือ เขาจะขาดทักษะด้านคน ซึ่งเรียกว่า Human Skill หรือ People Skill ทักษะนี้เป็นหนึ่งในสามทักษะที่ทำให้คนทำงานสำเร็จด้วยดี และมีความสุข นอกเหนือจากทักษะด้านการคิด และทักษะด้านความรู้ คนบางคนมีความรู้มาก เรียนเก่งมาก แต่คนอื่นไม่ค่อยอยากทำงานด้วย เขาเองก็รู้สึก แต่ไม่รู้ว่าทำไม

การคิดเป็นที่มาของการกระทำและการพูด คนคิดในแนวทางไหนก็จะพูดไปในแนวทางนั้น คนที่คุยกับใครแล้วไม่สนใจโฟกัสของคนอื่นสะท้อนอะไรหลายอย่างในความคิดและความเคยชินที่เคยทำมา เป็นต้นว่า เขาไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น ไม่ต้องสนใจตั้งใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูดฟังไปแล้วไม่เห็นจะได้เงินได้ทองอะไร ถ้ารายการที่ได้ประโยชน์ได้เงินได้ทองก็มีเหตุผลพอที่จะสละเวลาตั้งใจฟัง แต่ฟังอย่างมีเงื่อนไขในใจว่าเดี๋ยวเราจะได้ประโยชน์จากเขา นี่เป็นการใส่ใจแต่ความรู้สึกของตัวเอง 
อาจมีคนค้านในใจว่า เรื่องใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นเป็นเรื่องดีใครก็รู้ แต่จะให้ใส่ใจไปหมดทุกคนก็คงเป็นไปไม่ได้ และที่ผ่านมาก็ทำธุรกิจได้ดี ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

 
ประเด็นที่อยากชวนให้คิดในจุดนี้มีสองประเด็น คือ

  1. สมองเรามีหน้าที่จำสิ่งที่เคยรู้เคยทำ และชอบให้เราทำซ้ำสิ่งที่เคยทำ ซ้ำไปเรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัย ถ้าเรารู้ว่าการใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นเป็นเรื่องดี เราก็ลองทำซ้ำไปเรื่อยๆ ไม่นานก็เคยชินจนติดเป็นนิสัย เป็นอัตโนมัติ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้สึกว่าดีแล้วลงมือทำให้ชินเป็นนิสัยก็จะเกิดประโยชน์มากกว่า
  2. ขนาดเขาทำบ้างไม่ทำบ้างธุรกิจยังดีขนาดนี้ ถ้าทำจนชินเป็นนิสัยธุรกิจจะดีขึ้นขนาดไหนลองคิดดู ความสำเร็จของธุรกิจมีทั้งส่วนที่จับต้องได้ เช่น เงินทอง รายได้ และส่วนที่จับต้องไม่ได้ คือ ใจและความรู้สึกของลูกค้า ผู้เกี่ยวข้อง และเพื่อนร่วมงานของเรา ถ้าได้ทั้งธุรกิจและได้ทั้งใจคนที่เกี่ยวข้องกับเรา ความสำเร็จเช่นนี้จะชุ่มชื่นอิ่มเอิบอยู่ในใจเราอย่างที่วัตถุใดเปรียบไม่ได้ 

เวลาเราติดต่อธุรกิจกับคนบางคน บริษัทบางบริษัท บางครั้งการติดต่อครั้งแรกก็รู้สึกใกล้ชิดกันปานประหนึ่งทำธุรกิจกันมาหลาย ปีแล้วมิตรภาพที่ก่อขึ้นมา และความรู้สึกอันดีงามที่มีต่อกันเป็นความสำเร็จที่หวานชื่นของนักธุรกิจที่ เป็นพลังแฝงให้นักธุรกิจมีพลังมุ่งมั่นในการทำฝันของตนให้เป็นจริงอย่างมี ความสุข และไม่เหนื่อยใจ 

บางครั้งเราซื้อของจากร้านหนึ่ง แล้วรู้สึกไม่ค่อยดีกับคนขายที่อัธยาศัยไม่ดี แต่ก็จำใจซื้อเพราะจำเป็นต้องใช้ หรือเหตุผลใดก็ตาม ถ้าคราวหน้าต้องซื้อของนั้นอีก เราจะพยายามหาซื้อจากร้านอื่น และไม่แนะนำใครให้มาซื้อกับพ่อค้าคนนี้ ทำธุรกิจกับคนนี้ เพราะนิสัยการไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น นักธุรกิจแบบนี้มีเงินแต่ไม่มีความชื่นบานในจิตใจ มีแต่ความแห้งแล้งและเหงาในความรู้สึก 

นอกจากเขาจะขาดทักษะด้านคนแล้ว เขายังหย่อนทักษะด้านการคิด ซึ่งจะทำให้เสียพลังงานและเวลามากเกินควรกว่าจะทำงานสำเร็จเพราะการคิดของเขาจะแกว่งไปเรื่อยๆ ไม่มีหลัก ไม่มั่นคง ไม่นิ่ง คิดกระโดดไปโน่นที ไปนี่ที บางครั้งก็คิดกระโดดไปเรื่อยๆ จนเพลิน แล้วลืมว่าโฟกัสตอนเริ่มอยู่ที่ไหน นี่กำลังคิดเรื่องอะไร หาทางทำอะไรอยู่ตอนเด็กๆ คนส่วนใหญ่เคยเป็นเช่นนี้มาบ้าง พอโตขึ้นบางคนก็เริ่มควบคุมโฟกัสของตัวเองอยู่ และทำได้ดีขึ้นจนทำเป็นปกติ และชินจนเป็นนิสัย แต่บางคนช่วงชีวิตที่ผ่านมามีงานที่ต้องดูแลมากมาย จึงไม่ทันได้รู้เรื่องการควบคุมโฟกัสของตัวเอง จึงยังเคยชินกับการคิดกระโดดไป กระโดดมาอยู่บ้าง งานที่มีเยอะอยู่แล้วจึงเหมือนเยอะขึ้นกว่าของจริง เพราะต้องเสียเวลาคิดวนไปเวียนมา อ้อมแล้วอ้อมอีก อยู่ในภาวะที่ “คิดไม่เสร็จเสียที” เพราะควบคุมโฟกัสของตัวเองไม่ค่อยคล่อง

บางครั้งบางคนก็คิดไปไม่รู้จักหยุด ต่อยอดความคิดไปเรื่อยๆ ทำอย่างนี้ก็ดี แต่เพิ่มอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ บางครั้งก็คิดว่าไหนๆ ก็จะทำแล้วน่าจะทำอีกเรื่องหนึ่งไปพร้อมๆ กันไปด้วยเลย ทุกอย่างสมเหตุสมผล ดูดีไปหมดผลจะได้ออกมากระหึ่ม บางครั้งต่อยอดไปจนลืมโฟกัสเดิมหรือห่างจากโฟกัสเดิมจนอยากเปลี่ยนโฟกัสใหม่ แล้วก็เข้าวงจรเดิมคือนึกอยากเปลี่ยนโฟกัสอีก

การควบคุมโฟกัสการคิดของตนเองไม่ค่อยได้ ส่งผลให้งานเสร็จยาก เพราะคิดไม่เสร็จเสียที ไม่ใช่ทำไม่เสร็จ เพราะการคิดลอยละล่องไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ของตน บางครั้งเข้าใจไปว่าตนเองมีความคิดที่โลดแล่นมาก คิดเก่ง ช่างคิด คิดไม่หยุด ไม่ใช่ว่าทุกคนทำได้อย่างนี้ประเด็นสำคัญ คือ คิดโลดแล่นได้แล้วควรหยุดคิดให้ได้ เพื่อจะได้สรุปและลงมือทำ งานก็จะเสร็จได้

อย่างไรก็ตาม โฟกัสการคิดของตนเองนั้นพอจะฝึกได้ด้วยตนเองคือ การบังคับและควบคุมการคิดของตนเองให้จ่อไปเฉพาะจุดที่เราโฟกัสไว้ จ่อใจให้ต่อเนื่องตลอด ฝึกฝืนตนเองทีละนิด ไม่นานก็เป็นความเคยชินได้ ส่วนการโฟกัสคนอื่น เวลาฟังเขาพูดก็ใช้หลักเดียวกันและเพิ่มการเมตตาต้องการให้เขามีความสุขที่ได้พูดสิ่งที่เขาอยากพูดจนจบลงได้ คนที่ตั้งใจฝึกไปเรื่อยๆ ต้องทำได้แน่นอน

  • อาจารย์รัศมี ธันยธร ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ บริษัท ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ จำกัด www.creativitycenter.co.th
  • ภาพ Freepik