โรคความจำเสื่อม (Alzheimer’s Disease)

โรคความจำเสื่อม (Alzheimer’s Disease)

คำว่า “Alzheimer’s Disease” (อัล’ไซเม่อส ดิซีซ’) บ่อยครั้งเรียกสั้น ๆ ว่า Alzheimer’s หมายถึง “อาการผิดปกติของสมอง มีผลทำให้ความสามารถทั้งทางกายภาพและทางสติปัญญาเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ(มักจะเกิดกับคนชรา)”

(a disorder of the brain resulting in a progressive decline in intellectual and physical abilities and eventual senility.) 1 

คำ ๆ นี้มาจากชื่อของ ดร. Alois Alzheimer (1864-1915) นายแพทย์ชาวเยอรมันผู้ค้นพบโรคนี้เป็นคนแรก ในปี 1902 ดร. อโลอิส อัลไซเมอร์ ตรวจรักษาผู้ป่วยสตรีผู้หนึ่ง ซึ่งมีปัญหาในการรับรู้ ไม่สามารถจดจำชื่อของตัวและไม่สามารถเขียนหนังสือได้ รวมทั้งในบั้นปลายชีวิตก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ดร.อัลไซเมอร์ ตรวจพบว่า สมองของผู้ป่วยคนนั้น มีเซลสมองมากมายตายเกาะก่ายเป็นพังผืดเต็มไปหมด จากนั้น ดร.อัลไซเมอร์นำเอาบันทึกการตรวจรักษาโรคดังกล่าวไปรายงานในที่ประชุมทางจิตวิทยาที่เมือง

ตูบินเก็น ต่อมาโลกได้ตั้งชื่อโรคนี้ว่า “อัลไซเมอร์” 2

ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นี้จะมีอาการเรื้อรัง และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น มีอาการหลงลืม, อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย จำทิศทางสถานที่(ที่ไม่คุ้นเคย)ไม่ได้, มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา(พูดช้า/ใช้คำพูดผิดมากขึ้นๆ)และไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  อาการจะค่อยๆ หนักขึ้นๆ จนพฤติกรรมเปลี่ยนเร็วมาก และทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสังคม เช่น  ยืนปัสสาวะในที่สาธารณะ อีกทั้งมีอาการประสาทรับรู้เสื่อมไป มองไม่ค่อยเห็นและหูตึง

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นี้ อาจมาจากสมองถูกกระทบกระเทือน (เพราะอุบัติเหตุ) รับสารพิษ เช่น ตะกั่ว, อะลูมิเนียมสะสมมาก ๆ หรือรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อเนื่องนาน ๆ หรือขาดสารอาหารในช่วงวัยเด็ก หรือเกิดจากอาการเครียด หรือเป็นมาจากพันธุกรรม (สถิติแจ้งว่ามีราว 30 %ของคนไข้ที่ได้รับการถ่ายทอดโรคนี้ทางกรรมพันธุ์)

ดังนั้น  ถ้าไม่อยากให้ตัวของเรามีอาการของโรคอัลไซเมอร์นี้ เราก็ควรจะระมัดระวังอย่าให้ “สมอง” ของเราต้องมีปัญหา  เพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นเลย  ดีไหมครับ?!

ในเมื่อ “สมอง” เป็นสิ่งล้ำค่าของชีวิตที่อาจเสื่อมเสียไปได้   ดังนั้นในขณะที่สมองของคุณยังปกติดี ก็ขอให้เราจดจำแต่สิ่งที่ดีงาม  แต่อะไรที่ไม่ค่อยคู่ควรต่อการจดจำ ก็ขอให้ลืมมันไปเถอะครับ!

มีผู้กล่าวไว้ว่า “โลกนี้จะน่ายินดีสักเพียงใด ถ้าหากเราสามารถลืมปัญหาของเราได้ง่ายๆเหมือนกับที่เราลืมสิ่งที่เป็นพรในชีวิตของเรา !”

(What a grand world this would be if we could forget our troubles as easily as we forget our blessings.)

แท้จริงแล้ว มนุษย์อย่างเราช่างโชคดี ที่มี  “สมอง” ที่มหัศจรรย์ เป็นพรจากสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด โดยไม่ต้องไปหาซื้อจาก  ณ  ที่ไหน ๆ

เรามีเหตุผลที่น่าจะเชื่อได้ว่า ตัวของเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วน“สมอง” ต้องมีผู้ออกแบบ และสร้างมาอย่างมีจุดประสงค์

สมมติว่า เราเชื่อว่าน่าจะมี “ผู้สร้าง” มนุษย์ให้มีสมองอย่างที่คุณและผมมีจริง ๆ

เราเรียกผู้สร้างตัวของเราว่าอย่างไร? มีคนจำนวนไม่น้อยเรียกบุคคลผู้นั้นว่า  “พระเจ้า” (God)   หรือ

“พระเป็นเจ้า” (Lord)  แต่คนไทยส่วนใหญ่มักเลี่ยงไปเลยว่า  สิ่งที่สร้างตัวของเรา และทุกสิ่งคือ “ธรรมชาติ” (Nature)  เพราะไม่อยากจะขบคิดอะไรให้มันลึกซึ้ง หรือเสียเวลานัก!  แต่สำหรับพวกที่ปักใจแน่ ๆ ว่า มีผู้ที่ออกแบบหรือเนรมิตสร้างมนุษย์อย่างเราและสรรพสิ่งขึ้นมาอย่างมีจุดประสงค์ และมีระเบียบแบบแผน  พวกนี้จะจริงจังต่อเรื่องนี้ และต่อชีวิตมาก โดยคนพวกนี้จะถือคติว่า………ถ้าจะต้องเกิดมีอาการอัลไซเมอร์ทำให้ลืมอะไรไปบ้างก็ลืมไปเถอะ แต่อย่าลืมว่ามีพระเป็นเจ้าเป็นผู้ทรงออกแบบสร้างจักรวาล, โลก และตัวเราก็แล้วกัน!

ในพระคัมภีร์ ไบเบิลบันทึกว่า….โมเสส ผู้เป็นวีรชนและบรรพชนของบรรดาผู้ที่เชื่อในความเป็นบุคคลของ “พระเป็นเจ้า” ก็เคยเตือนชาวอิสราเอลตอนที่กำลังสร้างชาติไว้ว่า  อย่าลืมเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า ….

“ท่านทั้งหลาย จงระวังตัว

อย่าลืม พระเจ้าของท่าน ด้วยไม่รักษาพระบัญญัติ และกฎหมายและกฎเกณฑ์ของพระองค์

เกรงว่าเมื่อท่านได้รับประทานอิ่มหนำ ได้สร้างบ้านเรือนดี ๆ และได้อาศัยอยู่ในนั้น..มีเงินทองมากขึ้น และบรรดาซึ่งท่านมีอยู่ก็ทวีขึ้น

จิตใจของท่านทั้งหลายจะผยองขึ้น และท่านทั้งหลายก็ลืมพระเจ้าของท่านทั้งหลาย 3

น่าเศร้าที่ต่อมาพวกอิสราเอลก็เกิดมีอาการ อัลไซเมอร์ คือ “ลืมพระเจ้า” ของพวกเขาไปจนได้!

ผลก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขามีอยู่ ถูกแย่งชิงไปจากพวกเขาจนหมดสิ้น แม้แต่แผ่นดินก็ไม่มีจะอยู่นับเป็นพัน ๆ ปี

อีกทั้งพวกยิวเวลาย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ใดก็มีคนเกลียดชังพวกเขาอยู่เสมอ อย่างเช่น  ฮิตเลอร์  เกลียดยิว และฆ่าชาวยิวนับเป็นล้าน ๆ คน

บางทีเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้อาจจะช่วยพวกเขาให้จำขึ้นมาได้ว่าบ้าง ใครเป็นผู้ประทานสิ่งเหล่านั้นแก่พวกเขา!

จริง ๆ แล้ว พวกอิสราเอลเพิ่งกลับมารวมกันเป็นประเทศได้ไม่กี่สิบปีมานี้เอง ในปี ค.ศ. 1947  เมื่อสหประชาชาติได้ลงมติให้แบ่งปาเลศไตน์ ออกเป็นรัฐของยิว และของอาหรับ แต่อิสราเอลได้ประกาศตนเป็นประเทศเอกราช ในปี ค.ศ. 1948 ทำให้พวกอาหรับและชาวปาเลศไตน์ ไม่พอใจจึงพร้อมใจกันเป็นหนามยอกอก และเป็นหอกข้างแคร่ของพวกอิสราเอลที่ลืม “พระเจ้า” มาจนทุกวันนี้!

บางที เราเองก็อาจจะต้องขอบคุณสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้เหมือนกัน ที่ทำให้เราหลายคนได้ตื่นตัวจากอาการ “โรคอัลไซเมอร์” ฝ่ายวิญญาณนี้!


  1. Collins English Dictionary, Major New Edition, Harper Collins Publishers, 1992
  2. นสพ. มติชน, 26 ตุลาคม 2540, น.7
  3. เฉลยธรรมบัญญัติ 8:11-13

  • บทความ ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
  • ภาพ Freepik.com