โลกร้อนคืออะไร? 2/08

โลกร้อนคืออะไร?

บทความพิเศษ ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องราวภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาและหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนผู้อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ที่จะต้องให้ความเอาใจใส่และเริ่มต้นลงมือลดมลภาวะต่าง ๆ ที่คุณมีส่วนสร้าง เพื่อหยุดภาวะโลกร้อนร่วมกันในวันนี้ (โดยรวบรวมมาจากบทความในเวปไซด์ต่าง ๆ ประกอบกันขึ้นเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา)

โลกร้อน คืออะไร?
ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)

ภาวะเรือนกระจก (หรือ ปรากฎการณ์เรือนกระจก:Greenhouse effect) เป็นภาวะที่ชั้นบรรยากาศของโลกกระทำตัวเสมือนกระจก ที่ยอมให้รังสีคลื่นสั้นผ่านลงมายังผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ จากนั้นจึงคายพลังงานความร้อนให้กระจายอยู่ภายในชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลก จึงเปรียบเสมือนกระจกที่ปกคลุมผิวโลกให้มีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิและเหมาะสม ต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลกแต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ มากเกินสมดุลซึ่งส่วนมากเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซนี้มีคุณสมบัติดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อน ได้ดี พื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลกอย่างมากมาย

20 ปีที่ผ่านมา  นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพบว่า อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 0.5 องศาเซลเซียส สำหรับคนทั่วไปอาจเป็นตัวเลขที่ไม่น่าตื่นเต้น  แต่กับภูมิอากาศหากลองได้เปลี่ยนแล้วผลลัพธ์ไม่ได้ “น้อยนิด” ตามตัวเลขที่ปรากฎเลย… มีรายงานผลการวิจัยว่าในรอบ 40 ปี หากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเพียง 0.6 หรือ 1 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระดับความรุนแรงของภัยธรรมชาติทางอากาศ เช่น พายุหมุน  เพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัว ในขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับอากาศและเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น พายุพัดถล่มในประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาของศาสตราจารย์แคร์รี เอ็มมานูเอล  (Kerry  Emanuel) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเสตส์หรือเอ็มไอที (MIT) พบว่า ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1970  เป็นต้นมา พายุลูกใหญ่ โดยเฉพาะพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก เพิ่มความรุนแรงของแต่ละลูกมากกว่าเดิมถึง 50 เปอร์เซนต์ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ ความร้อนเหนือน้ำทะเลที่สูงขึ้น ขณะที่ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงขึ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว 0.8 องศา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ปรากฏการณ์เรือนกระจก จึงมีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลกไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้นโลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัดและตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศกรองพลังงานจากดวงอาทิตย์ ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect)
การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนตร์ หรือการกระทำใด ๆ ที่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ใน ล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปี ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นภาวะโลกร้อน ดังเช่นปัจจุบัน และในขณะนี้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในธรณีกาล กลับใช้เวลาเพียงชั่วอายุคนเท่านั้นเอง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมจำนวนมากพยายามชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักในปัญหาที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อ โดยเฉพาะการบริโภคแบบ ‘สุด สุด’ ที่ทำให้ต้องขุดพลังงานฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินขึ้นมาใช้ อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเรือนกระจก และเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินแก้
ด้านองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือสูงมาก และหากไม่ถึงขั้นวิกฤตคงไม่ออกมาเตือนว่า สภาพอากาศของ พ.ศ. 2546 ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียมีความเลวร้ายอย่างน่าตระหนก สภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีทั้งที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุด ปริมาณฝนมากที่สุด และเกิดพายุมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ส่วนของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์เกี่ยวกับ ปัญหาโลกร้อน เช่นเดียวกับรายงานลับที่เพนตากอนส่งถึงประธานาธิบดีบุช เมื่อต้นปี 2547 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกในอีก 20 ปีนับจากนี้ จะเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลกซึ่งจะคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านทั้งจากภัยธรรมชาติและสงครามเพื่อความอยู่รอด เมืองใหญ่ในยุโรปจะตกอยู่ในสภาวะอากาศแบบไซบีเรีย หลายเมืองสำคัญที่อยู่ริมฝั่งน้ำจะจมน้ำ เกิดความแห้งแล้งและอดอยาก จนนำไปสู่การจลาจลและสงครามในที่สุด

หนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ รายงานว่า ได้ถึงภาวะนับถอยหลังเข้าสู่หายนะอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยโลกอาจเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถกลับตัวได้ ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี นี่ไม่ใช่คำทำนายของนอสตาดามุส แต่เป็นรายงาน ‘การเผชิญความท้าทายของสภาพอากาศ’ ผลงานร่วมของ 3 สถาบันคือ สถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสาธารณะของอังกฤษ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกา และสถาบันออสเตรเลีย รายงานระบุว่า จุดอันตรายจะส่งสัญญาณเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 1750 ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีข้อสรุปกันมาหลายปีก่อนการประชุมสุดยอดทางสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่า หากมนุษยชาติจะหลีกเลี่ยงหายนะภัยทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกให้ได้นั้น ปริมาณการปล่อยก๊าซเสียต่าง ๆ ต้องลดลงถึง 70-80% ไม่ใช่เพียงแค่ 5-6 % และต้องดำเนินการโดยเร็ว คือภายใน 1 – 2  ปีนี้ ไม่ใช่ค่อย ๆ ลดในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

ผลกระทบภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ ผิดเพี้ยน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หน้าแล้งยาวนานขึ้น หน้าฝนก็ตกหนักจนท่วม สิ่งเหล่านี้แปรปรวนไปเพราะภาวะโลกร้อนเป็นหลักเนื่องจากอุณหภูมิบนพื้นโลกสูงขึ้น ทำให้น้ำในมหาสมุทรและพื้นดินระเหยไปสะสมเป็นเมฆมากขึ้น ลมพายุได้นำพาเมฆเหล่านี้เข้าสู่พื้นดินและกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่นั้น ๆ เช่นน้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ หรือน้ำท่วมใหญ่ในจีนที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน

อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกร้อนกลับทำให้บางพื้นที่แห้งแล้งหนัก เนื่องจากฝนไม่ตกในพื้นที่นั้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไปตกหนักจนเป็นน้ำท่วมในพื้นที่อื่น ตัวอย่างเช่นแถบแอฟริกา ทะเลสาบ Chad Lake เคยเป็นหนึ่งในทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมพื้นที่ 4 ประเทศ แต่ปัจจุบันกลับแห้งเหือดไปหมด นี่คือผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่น่าตกใจ
พื้นที่เช่นแอฟริกา ไซบีเรีย มองโกเลีย ประสบกับความแห้งแล้งอย่างหนัก โดยปกติ พื้นที่ในที่มีป่าจะมีน้ำมาก เนื่องจากมีไอน้ำในอากาศจากการคายน้ำของพืชมาก แต่เมื่อไม่มีน้ำฝนพืชก็ค่อย ๆ ตายลงทำให้บริเวณนั้นแห้งแล้งยิ่งขึ้น ป่าที่มีความชื้นต่ำและมีอุณหภูมิสูงย่อมเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้มากขึ้น ดังเช่น ไฟป่าในอินโดเนเซีย ออสเตรเลีย อเมริกา หรืออะเมซอน ที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ไฟป่ายังเป็นปัจจัยที่ยิ่งเร่งภาวะโลกร้อนให้รุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากปล่อยมลภาวะคาร์บอนอย่างมหาศาลอีกด้วย
– จำนวนพายุ Hurricane Category 4 และ 5 เพิ่มขึ้นสองเท่า ในสามสิบปีที่ผ่านมา
– เชื้อมาลาเรียได้แพร่กระจายไปในที่สูงขึ้น แม้แต่ใน Columbian, Andes ที่สูง 7000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล
– สัตว์ต่างๆ อย่างน้อย 279 สปีชี่ส์กำลังตอบสนองต่อ ภาวะโลกร้อน โดยพยายามย้ายถิ่นที่อยู่
– มหาสมุทรอาร์กติกจะไม่เหลือน้ำแข็ง ภายในฤดูร้อน 2050
– สิ่งมีชีวิตกว่าล้านสปีชี่ส์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

แหล่งข้อมูล:
http://news.nationalgeographic.com/news/2006/09/060913-sunspots.html
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000020910
http://www.whyworldhot.com/an-inconvenient-truth-global-warming/

  • Thailand Bible Society
  • ภาพ Angel.nt.111 – Freepik.com