โฮซันนาห์ ฮาเลลูยาห์ และ อาเมน มีความหมายว่าอย่างไร? 1/08

โฮซันนาห์ ฮาเลลูยาห์ และ อาเมน มีความหมายว่าอย่างไร?

คำถาม : เมื่อเข้าประชุมทางศาสนาร่วมกับพี่น้องคริ สตชนแล้ว ได้ยินคำบางคำที่ไม่ทราบความหมายได้แก่โฮซันนา ฮาเลลูยาห์ และอาเมน ดังนั้น จึงขอท่านช่วยอธิบายที่มาและความหมายของคำเหล่านี้ด้วย
คำตอบ : เรื่องที่ท่านถามมานั้น ขอตอบว่า คำ โฮซันนา ฮาเลลูยาห์ และอาเมน เป็นคำเฉพาะที่คนเป็นคริสเตียนนานแล้วพอจะเข้าใจบ้าง แต่สำหรับคนภายนอกก็จะไม่เข้าใจเลย คำทั้งสามที่กล่าวข้างต้นเป็นคำทับศัพท์ภาษาฮีบรูที่ใช้ในการนมัสการพระเจ้า เราพบทั้งสามคำในพระคริสตธรรมคัมภีร์ด้วย บางคำเราก็แปลทับศัพท์ คือ ถอดเอาเสียงมาจากภาษาเดิม โดยไม่ได้แปลความหมาย อย่างเช่น คำว่า “โฮซันนา” บางคำ เราก็แปลทับศัพท์บ้าง แปลความหมายบ้างแล้วแต่บริบท เช่น คำว่า “อา เมน”ซึ่งบางครั้งจะแปลว่า  “ความ จริง”หรือ  “สัจจะ”เป็นต้น บางคำเราแปลความหมายและมีเชิงอรรถอธิบายว่าในภาษาเดิมอ่านอย่างไร เช่น คำว่า “ฮาเลลูยาห์”จะแปลว่า “สรร เสริญพระยาห์เวห์”เป็นต้น

อนึ่งเหตุผลที่แปลทับศัพท์ โดยไม่แปลความหมายก็เพราะเราไม่มีคำไทยที่จะสามารถสื่อความหมายได้เหมือน หรือตรงกับคำนั้นในภาษาเดิม ยกตัวอย่างเช่น ข้าวบาร์เลย์ ถั่วอัลมอนด์ มานา เป็นต้น
ต่อไปนี้จะขออธิบายที่มาและความหมายของคำทั้งสามนั้น

โฮซันนา
คำทับศัพท์ภาษากรีกที่พบในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ได้แก่ มัทธิว 21:9 มาระโก 11:9 และ ยอห์น 12:13 ในเหตุการณ์เดียวกัน คือ เมื่อพระเยซูทรงลาเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้มีชัย แล้วประชาชนที่ร่วมขบวนเข้าสู่เทศกาลปัสกาก็โห่ร้องด้วยความยินดีว่า “โฮ ซันนา แก่บุตรของดาวิด ขอให้ท่านผู้เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงพระเจริญ”ซึ่งเป็นข้อความที่หยิบยกมาจากพระธรรมสดุดี 118:25  ดังนั้นคำกรีก “โฮซันนา”จึงมีที่มาจากคำฮีบรูในพระธรรมเพลงสดุดีว่า “โฮซีอาห์ นาห์”ซึ่งแปลว่า “ขอทรงช่วย…ให้รอดเถิด”แต่ผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่มีความตั้งใจที่จะไม่แปลความหมาย แต่ใช้การทับศัพท์แทน คำ “โฮซันนา”นี้ยังเกี่ยวโยงกับความหวังของคนยิวในพระเมสสิยาห์อีกด้วย คือเกี่ยวโยงกับพระองค์ผู้จะเสด็จมาในพระนามของพระยาห์เวห์  ดัง นั้นเมื่อประชาชนโห่ร้องต้อนรับพระเยซูเวลานั้น พวกเขากำลังต้อนรับพระองค์ในฐานะพระเมสสิยาห์ ดังจะสังเกตได้จากการที่พวกเขาร้องเรียกพระองค์ว่า “บุตรของดา วิด”ซึ่งเป็นวลี หมายถึง พระเมสสิยาห์ผู้จะเสด็จมาจากเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิด
ในที่นี้เราจะพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคำนี้ คือ ความหมายดั้งเดิมนั้นเป็นคำอธิษฐานทูลขอการช่วยกู้ แต่ต่อมาในสมัยพระเยซู คำนี้กลับเป็นคำโห่ร้องแสดงความยินดีต้อนรับ ดังนั้นในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ จึงแปลทับศัพท์และมีเชิงอรรถว่า ในที่นี้เป็นข้อความแสดงการสรรเสริญ (ดูพระธรรมยอห์น 12:13 ประกอบ) สรุปว่า คำ “โฮ ซันนา”ที่ใช้ในปัจจุบัน หมายถึง “สรรเสริญ (พระเจ้า)”

ฮาเลลูยาห์
คำนี้ไม่ใช่คำอุทานที่แสดงออกถึงความรู้สึกชื่นชมยินดีและไร้ความหมาย แต่เป็นคำที่มีความหมายซึ่งมาจากคำฮีบรูสองคำ คือ คำกริยา “ฮา เลลู”แปลว่า (ท่านทั้งหลาย) จงสรรเสริญ และคำนาม “ยา ห์”ซึ่งเป็นพระนามย่อจากพระนามเต็มของพระเจ้าว่าพระยาห์เวห์ เพราะฉะนั้น คำ “ฮาเลลูยาห์”จึงแปลว่า “จง สรรเสริญพระยาห์เวห์”
คำ “ฮาเลลูยาห์”ปรากฏในพระธรรมสดุดี 24 ครั้ง ได้แก่ 104:35; 105:45; 106:1,48; 111:1; 112:1; 113:1, 9; 115:18; 116:19; 117:2; 135:1, 3, 21; 146:1, 10; 147:1, 20; 148:1, 14; 149:1, 9; 150:1, 6 และเมื่อสังเกตตำแหน่งที่ ตั้งของคำ “ฮาเลลูยาห์”เราพบว่าคำนี้ปรากฏต้นบทบ้าง ในบทบ้าง และท้ายบทบ้าง ดูตัวอย่าง พระธรรมสดุดี 135:1, 3, 21
คณะกรรมการยกร่างพระคัมภีร์ฉบับมาตฐานได้ปรึกษากับที่ปรึกษาของสหสมาคมพระ คริสตธรรมคัมภีร์ว่า ควรจะแปลคำฮีบรู “ฮาเลลูยาห์”อย่างไรดี? ควรจะแปลทับศัพท์หรือแปลความหมาย? การ แปลอย่างไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมากที่สุด กล่าวคือ ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาและมองเห็นลักษณะพิเศษของบทเพลง “ฮา เลลูยาห์”ในพระธรรมสดุดี (หมายถึงบทเพลงที่ขึ้นต้นด้วยคำ “ฮา เลลูยาห์”ซึ่งพระคัมภีร์ไทยฉบับ 1971 แปลว่า “จง สรรเสริญพระเจ้าเถิด”) ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ข้อตกลงว่า ให้แปลความหมายของคำ “ฮาเลลูยาห์”ว่า “สรร เสริญพระยาห์เวห์”และมีเชิงอรรถอธิบายว่า “คำ ฮีบรู คือ ฮาเลลูยาห์”ในกรณีที่คำนั้นปรากฏอยู่ต้นบทและท้ายบท แต่หากคำนั้นอยู่ในบทอย่างเช่น สดุดี 135:3 ก็ให้แปลว่า “จงสรรเสริญพระยาห์เวห์”
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ เราพบคำกรีก “อา เลลูยา”อยู่สี่ครั้ง คือ วิวรณ์ 19:1, 3, 4, 6  ซึ่ง ผู้ยกร่างได้แปลทับศัพท์ว่า “ฮาเลลูยา”โดยไม่ได้แปลความหมาย ทั้งนี้เพราะคำกรีก “อาเลลูยา”แปลทับศัพท์คำฮีบรู “ฮาเลลูยาห์”ดังนั้นเพื่อรักษาเจตน์จำนงของผู้เขียน เราจึงแปลทับศัพท์และมีเชิงอรรถอธิบายว่า “แปลว่า สรรเสริญพระเจ้าเถิด”

อาเมน
คำนี้ได้ยินกันบ่อยในเวลาจบคำอธิษฐาน โดยมีความหมายว่า “ขอให้เป็นดังนั้นเถิด” คำว่า “อา เมน”เป็นคำทับศัพท์ภาษาฮีบรูและภาษากรีกมีความหมายว่า “จริง แท้ แน่นอน เชื่อถือได้”นี่คือคำที่ผู้ฟังเปล่งออกมาเพื่อตอบสนองสิ่งที่พวกเขาได้ยินโดยต้องการยืน ยันว่า เขาเห็นด้วยและพร้อมที่จะแบกรับผลที่เกิดขึ้นจากการยอมรับนั้น ไม่ว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นจะเป็นคำสาบาน (เนหะมีย์ 5:11-13) คำอวยพร (เยเรมีย์ 11:5) คำสาปแช่ง (เฉลยธรรมบัญญัติ 27:15-26) คำอธิษฐาน (มัทธิว 6:13) หรือ คำสรรเสริญพระเจ้า (1พงศาวดาร 16:36, เนหะมีย์ 8:6, สดุดี 89:52)
ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนยิวที่ตกทอดมาถึงคริสตชนก็คือ เมื่อผู้อ่านพระคัมภีร์หรือผู้เทศนาอธิษฐานต่อพระเจ้า คนอื่น ๆ ในที่ประชุมจะร้องตอบสนองว่า อาเมน เพื่อให้คำอธิษฐานนั้นเป็นของพวกเขาเอง ดู 1โครินธ์ 14:16 ประกอบด้วย
อนึ่งในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาษาไทย มีทั้งการแปลทับศัพท์คำ “อา เมน”และการแปลความหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบท หากเป็นคำตอบสนองสิ่งที่ได้ยินหรือการจบคำอธิษฐาน เราก็แปลทับศัพท์ หรือหากเป็นพระนามหนึ่งของพระเจ้าคือ พระอาเมน (วิวรณ์ 3:14) เราก็ทับศัพท์เช่นกัน  แต่ในบางกรณีเช่น เยเรมีย์ 11:5 แม้จะเป็นการตอบสนองพระดำรัสของพระเจ้า ก็ไม่อาจทับศัพท์ได้ ขอพิจารณาความดังต่อไปนี้ (พระเจ้าตรัสกับคนยูดาห์ผ่านทางเยเรมีย์ว่า) “…จง ฟังเสียงของเรา และจงกระทำทุกอย่างที่เราบัญชาเจ้าไว้…เพื่อเราจะกระทำให้สำเร็จตามคำ สาบาน…ว่าจะประทานแผ่นดิน…”แล้วข้าพเจ้าทูลตอบว่า “ข้า แต่พระเจ้า ขอให้เป็นดังนั้นเถิด” (เย เรมีย์ 11:4, 5)ข้อความที่ขีดเส้นใต้ คือ “อา เมน”ซึ่งการแปลความหมายจะดีกว่าการแปลแบบทับศัพท์
นอกจากนี้พระเยซูคริสต์ก็นิยมขึ้นต้นคำสอนของพระองค์ว่า “เรา บอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า…”(มัทธิว 5:18, 26) ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า “อาเมน เลโก ฮูมิน”หากเราแปลทับศัพท์ว่า “เราบอกอาเมนแก่ท่านทั้งหลาย ว่า…”ก็จะทำให้ผู้อ่านสับสนได้
สุดท้าย ขอสรุปว่า ทั้งสามคำข้างต้นมิใช่คำอุทานที่เปล่งออกมาตามอารมณ์อย่างไร้ค่า แต่เป็นคำที่มีความหมายและออกมาจากความตั้งใจ ดังนั้นในการนมัสการพระเจ้า เราจึงนมัสการพระองค์อย่างมีความหมาย  เราไม่เพียงสรรเสริญ พระองค์ด้วยเสียงจากปาก แต่สรรเสริญพระองค์ด้วยความคิดและด้วยจิตใจ ดู1โครินธ์ 14:15 ประกอบ

  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ lumoproject