ใครกันแน่ที่ดลใจดาวิด?
ถาม : ประโยค “พระเจ้า…ทรงดลใจดาวิด” ใน 2 ซามูเอล 24:1-25 และ ประโยค “ซาตาน…ดลพระทัยดาวิด” ใน 1 พงศาวดาร 21:1-26 ในภาษาเดิมนั้น เหมือนกันหรือต่างกัน อย่างไร?
ตอบ : มี บางคนตั้งคำถามที่หนักและรุนแรงกว่านั้นว่า “พระเจ้าของดาวิด ในตอนนั้นเป็นซาตานหรือ?”
แต่ก่อนจะตอบคำถามข้างต้น ก็อยากจะกล่าวถึง บางอย่างก่อนคือ เมื่อคริสตชนอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ด้วยความตั้งใจ บางครั้งเขาก็พบคำถามโดยไม่ตั้งใจ คำถามนั้นบ้างก็ยาก บ้างก็ง่าย แต่เขาก็พยายามค้นหาคำตอบอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้บางครั้งก็ได้คำตอบที่ จุใจ บางครั้งก็ได้คำตอบแต่ไม่จุใจ และบางครั้งก็ไม่ได้คำตอบเลย ในสองกรณีหลังนั้นเขาจะตอบสนองอย่างไรต่อพระคัมภีร์? นี่เป็น สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือเขาจะยังเชื่อถือพระคัมภีร์ต่อไปหรือไม่?
เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าพระคัมภีร์ไม่ได้ตอบคำถามทุกอย่างที่มนุษย์อยากรู้ แต่ตอบคำถามเฉพาะที่พระเจ้าทรงเห็นว่ามนุษย์จำเป็นต้องรู้ โดย เฉพาะเรื่องความรอด ทุกอย่างที่อยู่ในพระคัมภีร์เป็นความจริงแต่ไม่จำเป็นที่ความจริงทุกอย่างใน จักรวาลต้องมีอยู่ในพระคัมภีร์ด้วย พระเจ้าไม่ได้ทรงมุ่งหมายจะให้พระคัมภีร์เป็นตำราประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสถิติตัวเลขกับมนุษย์ แต่ทรงประสงค์จะให้มนุษย์รู้วิธีที่จะกลับมาคืนดีกับพระองค์และดำรงอยู่ใน มิตรภาพนั้นตลอดไป
ตอนนี้เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า เมื่อเราอ่านเปรียบเทียบบริบทระหว่าง 2 ซามูเอล บทที่ 24 กับ 1 พงศาวดาร บทที่ 21 เราพบว่าทั้ง สองตอนกล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันคือเรื่องดาวิดทรงให้นับกำลังพลทั้งหมด แต่ 2 ซามูเอล บทที่ 24 อยู่ในส่วนปิดท้ายเล่ม (2 ซม อ.21-24) ที่ขึ้นต้นด้วยพระพิโรธของพระเจ้าต่ออิสราเอล เนื่องจากการกระทำของกษ้ตริย์ซาอูล (2 ซมอ,21) และ จบลงด้วยพระพิโรธ อันเนื่องจากการกระทำของกษัตริย์ดาวิด (2 ซม อ.24) ส่วน 1 พงศาวดารบทที่ 21 มี จุดเน้นอยู่ที่การซื้อที่ดินเพื่อสร้างพระวิหารในเวลาต่อมา ฉะนั้น บทที่ 21 จึงเป็นบทนำของเรื่องดาวิดตระเตรียมวัสดุในการสร้างพระวิหาร (1 พศด.22-29)
อันที่จริงแล้ว เมื่ออ่านพระธรรมทั้งสองตอนเปรียบเทียบกัน เราพบคำถามห้าข้อด้วยกัน คือ
- ใครกันแน่ที่ดลใจดาวิดให้นับคนอิสราเอล? (2 ซมอ.24:1; 1 พศด.21:1)
- จำนวนประชากรทั้งสิ้นที่นับแล้วมีเท่าไร? (2 ซมอ.24:9; 1 พศด.21:5)
- การกันดารอาหารที่ให้ดาวิดเลือกนั้นกินเวลานานเท่าไร (2 ซม อ.14:13; 1 พศด.21:12)
- จ้าของลานนวดข้าวมีชื่อว่าอะไร? (2 ซมอ.24:18; 1 พศด.21:18)
- ดาวิดซื้อสถานที่จากคนเยบุสด้วยราคาเท่าไร? (2 ซมอ.24:24; 1 พศด.21:25)
แต่คำถามสำคัญคือคำถามแรกที่มีผู้ถามมา จึงขอตอบดังนี้คือ
- คำกริยา “ทรงดลใจ” ใน 2 ซมอ.24:1 กับ “ดลพระทัย” ใน 1 พศด.21:1 ในภาษาฮีบรูเป็นคำเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความหมายเหมือนกันอย่างแน่นอน
- ใน 2 ซมอ.24:1 ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใคร เป็นประธาน? แต่เป็นไปได้มากว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็นผู้กระทำ ส่วนใน 1 พศด.21:1 ระบุว่าซาตานเป็นผู้ดลใจ ถ้าอย่างนั้น พระคัมภีร์ไม่ขัดแย้งกันเองเหมือนอย่างบางคนว่าไว้หรือ?
เพื่อให้ได้ความกระจ่างนั้นเราต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรที่เรียกว่า ขัดแย้งและอะไรที่เรียกว่าแตกต่างกัน ยกตัวอย่างที่หนึ่ง สมมติว่าถ้ามีพระคัมภีร์ตอนหนึ่งกล่าวว่า พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนที่กรุงเยรูซาเล็ม และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า พระองค์ทรงถูกตรึงที่เมืองนาซาเร็ธ (ซึ่งไม่เป็นความจริง) เมื่อเป็นอย่างนี้เราก็เรียกว่าขัดกัน นั่นก็หมายความว่าจะต้องมีข้อความหนึ่งเป็นจริง ตัวอย่างที่สอง ในกิจการ 9:7 “…พวกเขาได้ยินพระสุรเสียงแต่ไม่เห็นใคร” และ กิจการ 22:9 “คนทั้งหลายที่อยู่กับข้าพเจ้าเห็นแสงสว่าง แต่ไม่ได้ยินพระสุรเสียงที่ตรัสกับข้าพเจ้า” (ฉบับมาตรฐาน 2002) ทั้งสองตอนกล่าวถึงเรื่องเดียวกันคือเรื่องการกลับใจของเซาโล แต่คำถามก็คือคนที่อยู่กับเซาโลได้ยินพระสุรเสียงหรือไม่? คำ ตอบคือได้ยินพระสุรเสียงที่ไม่เข้าใจความหมายในกิจการบทที่ 9 และ ไม่ได้ยินพระสุรเสียงที่เข้าใจได้ในกิจการบทที่ 22 นายแพทย์ลู กาเจาะจงบันทึกโดยใช้กริยาวลีกรีกต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกัน นั่นก็คือ พวกเขาได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจความหมายของเสียงนั้น เสียงนั้นมีความหมายสำหรับเซาโล แต่ไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา ดังนั้นกล่าวได้ว่าทั้งสองตอนบันทึกต่างกัน แต่ไม่ได้ขัดแย้งกัน แม้ดูเหมือนเช่นนั้นก็ตาม
ตอนนี้กลับมาที่คำถามของเรา หนังสือซามูเอลต้องการนำเสนอภาพ พระเจ้าทรงเป็นองค์อธิปไตย (sovereign) ผู้ทรงครอบครองเหนือ ทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยปราศจากการรับรู้ หรือการอนุญาตของพระองค์ ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นเหตุของสิ่งต่างๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงกระตุ้นหรือล่อลวงให้ดาวิดทำบาป (ยากอบ 1:13)พระองค์ไม่ใช่ผู้ที่ทำให้โยบเจ็บปวดเพื่อความบันเทิงของ พระองค์ แต่พระองค์ทรงต้องการพิสูจน์ความจงรักภักดีที่มีอยู่ในตัวโยบให้ปรากฏชัดออก มา พระองค์จึงทรงอนุญาตแก่ซาตาน และมันเองทำร้ายโยบเพื่อให้โยบเสียความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า โดยหนุนให้ท่านสาปแช่งพระองค์ ในเหตุการณ์นี้เราพบว่าพระเจ้าทรงเป็นใหญ่กว่าซาตาน มันทำกับโยบได้เท่าที่พระองค์อนุญาตเท่านั้น ผู้เขียนหนังสือซามูเอลมองเห็นพระเจ้าทรงเป็นผู้ครอบครองเหนือสรรพสิ่ง
แต่สำหรับหนังสือพงศาวดารนั้นเขียนขึ้นภายหลังหนังสือซามูเอลราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราข สมัยที่อิสราเอลกลับจากการเป็นเชลย ผู้เขียนพงศาวดารไม่เคยกล่าวถึงซาตานในที่ใดเลย นอกจากตอนนี้ ทั้งนี้เพราะท่านเกรงว่าผู้อ่านจะเข้าใจผิดว่า พระเจ้าผู้บริสุทธิ์เป็นต้นเหตุโดยตรงของความชั่ว ดังนั้นท่านจึงระบุชัดเจนว่า ซาตานเป็นผู้ดลใจดาวิดให้ทำบาปโดยนับกำลังพล เราพบว่าศาสนศาสตร์เรื่องซาตานพัฒนาในสมัยหลังว่าซาตานเป็นบุคคลที่ไม่เพียง กล่าวร้ายธรรมิกชน แต่ยังดลใจให้พวกเขาทำบาปด้วย
ดังนั้นเราจึงไม่พบความขัดแย้งแต่ประการใดในหนังสือซามูเอลและหนังสือ พงศาวดาร ผู้เขียนแต่ละท่านต้องการเน้นความจริงคนละด้านกัน พระเจ้าทรงเป็นปฐมเหตุ ทรงเป็นองค์อธิปไตย ซาตานเป็นผู้ล่อลวงและทำร้ายมนุษย์
ในที่สุดขอกล่าวย้ำว่า พระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระเจ้า เป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและเป็นอาวุธต่อสู้กับมาร อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานของความเชื่อและการดำเนินชีวิตของคริสตชนด้วย ถ้าหากพื้นฐานนี้ถูกสั่นคลอนจนพังทลายแล้ว ความเชื่อและการดำเนินชีวิตตามพระทัยของพระเจ้าก็จะล่มสลายตามไปด้วย ดังนั้นจึงอยากจะหนุนใจว่า แม้จะไม่ได้คำตอบที่พอใจเราเสียทุกอย่าง ถึงกระนั้นพระคัมภีร์ก็ยังเป็นพระวจนะของพระเจ้าอันล้ำค่าและทรงไว้ซึ่ง สิทธิอำนาจไม่เปลี่ยนแปลง (2 ทิโมธี 3:16-17) อย่า ให้สิ่งใดมาทำลายความศรัทธาที่เรามีในพระวจนะของพระเจ้าเลย
- อ.ปัญญา โชชัยชาญ
- ภาพ Jerry Harston