ให้ม้านำรถ ไม่ใช่รถนำม้า
ในห้องเรียนของเด็กชั้นมัธยมปลายแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ครูให้นักเรียนเขียนเรียงความ เรื่องความฝันของฉัน (My Dream) นักเรียนชายอายุประมาณ 15 ปี ชื่อ มอนตี้ เขียนเรียงความว่าตนฝันอยากเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงม้าที่มีเนื้อที่กว้าง ใหญ่มหาศาลเท่านั้นเท่านี้ กำหนดตัวเลขไว้ชัดเจน กลางฟาร์มม้านั้นจะสร้างอาคารกว้างยาวเท่านั้นเท่านี้ เพื่อเป็นที่ต้อนรับผู้คนที่จะมาศึกษาดูงานฟาร์มม้าของตน มอนตี้อธิบายทุกอย่างชัดเจนละเอียดลออครบถ้วน แล้วส่งเรียงความนั้นให้กับครูเช่นเดียวกับ
เพื่อนๆ เมื่อครูตรวจเสร็จแล้วแจกเรียงความนั้นคืนให้นักเรียนทุกคน มอนตี้รีบดูผลการตรวจของครู ปรากฏว่า ตรงมุมกระดาษด้านบนมีตัวหนังสือสีแดงเขียนตัว F ซึ่งแปลว่าตก หรือ Fail และมีข้อความเขียนไว้ว่า “พบครูหลังเลิกเรียนแล้ว” เมื่อมอนตี้เข้าไปพบครูตอนเย็น ครูบอกกับเขาว่า “มอนตี้ เธอฝันว่าจะเป็นเจ้าของฟาร์มม้าที่ใหญ่ขนาดนั้นน่ะ เธอรู้มั้ยว่ามันต้องใช้เงินมากมายมหาศาลเลยนะ แล้วตอนนี้ทางบ้านของเธอมีเงินแค่ไหน ฝันของเธอเป็นไปไม่ได้เลย เอาอย่างนี้ละกัน มอนตี้ เธอกลับบ้านแล้วเขียนเรียงความฉบับใหม่มาให้ครูพรุ่งนี้ คราวนี้เขียนฝันที่พอจะมีทางเป็นไปได้หน่อยนะ แล้วครูจะให้คะแนนใหม่แทนคะแนน F ที่เธอได้นี้” มอนตี้กลับบ้านแล้วเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พ่อฟัง พร้อมขอคำแนะนำว่าตนควรจะทำอย่างไรดี เมื่อพ่อของมอนตี้อ่านฝันที่มอนตี้เขียนจบแล้วจึงพูดกับมอนตี้ว่า “นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของลูกทีเดียว พ่อว่าลูกต้องคิดและเลือกเองแล้วล่ะ” เช้าขึ้นมอนตี้ไปพบครูพร้อมทั้งส่งเรียงความฉบับเดิมให้แก่ครู และบอกกับครูว่า “ครูเก็บ F ของครูไว้เถอะครับ ผมจะเก็บฝันของผมไว้ (You keep your F., I keep my dream.)” เสียงคนเล่าจบลงพร้อมพูดว่า “เรียงความฉบับนั้น ผมใส่กรอบแขวนไว้กลางผนังที่ทุกท่านเห็นอยู่นั้น และขณะนี้ทุกท่านกำลังยืนอยู่ในอาคารกลางฟาร์มเลี้ยงม้าที่เด็กคนนั้นเขียนไว้ในฝันของเขา และถ้าท่านมองออกไปข้างนอก นั่นคือฟาร์มเลี้ยงม้าขนาดเดียวกับที่เขียนไว้ในเรียงความฉบับนั้น” มอนตี้หันมายังกลุ่มผู้ฟังซึ่งมาศึกษาดูงานที่ฟาร์มของเขา และพูดเสริมว่า?“ที่น่าสนใจก็คือ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ครูคนเดียวกันนั้นพานักเรียนมาศึกษาดูงานที่นี่ ก่อนกลับครูพูดกับผมว่า “ครูดีใจที่เธอเก็บฝันของเธอไว้ และทำฝันให้เป็นจริง ครูว่าครูคงเป็นคนขโมยฝันของนักเรียนมาหลายคนแล้ว ครูขอโทษที่เกือบจะขโมยฝันของเธอเช่นกัน” ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้เดินตามความฝันของคุณเสมอ
เพื่อนรักคนหนึ่งของดิฉันส่งบทความนี้มาให้ เมื่อครั้งดิฉันเริ่มทำตามฝันของตัวเองที่จะช่วยให้คนไทยเห็นความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ที่มีต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานในทุกแขนงอาชีพ และฝึกการคิดสร้างสรรค์อย่างครบทั้งวงจรให้แก่ผู้คนที่อยากฝึก เมื่อสิบปีที่แล้วเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผู้คนสิ้นหวังหมดแรงกันมากมาย ภาวะเช่นนั้นทำให้เกิดความกดดันในใจของดิฉันว่า นี่แหละเป็นเวลาที่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ให้คนไทยในแวดวงธุรกิจโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้รู้ว่า “Creativity is the main hope.” ความคิดสร้างสรรค์นี่แหละเป็นความหวังหลัก เงินทองเราสู้เขาไม่ไหว แต่เราสามารถสู้ได้ แก้ปัญหาได้ หาทางออกใหม่ๆ ได้หลายทางถ้าคนไทยเราใช้ความคิดสร้างสรรค์มาช่วยในการบริหารงาน ปี 2540 ดิฉันจึงเปิดศูนย์ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเปิดรับสมัครให้ผู้บริหารที่มองหาเครื่องมือที่มาช่วยเขาคิดได้ยิ่งกว่าสิ่งที่เขามีอยู่
ระยะแรกมีผู้บริหารและท่านเจ้าของกิจการโทรมาคุยด้วยเพื่อให้ไขข้อสงสัยว่าทำไมจึงเปิดสอนความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้บริหาร ผู้บริหารไม่ใช่ศิลปิน ทำไมจึงบอกว่าบริษัทชั้นนำแนวหน้าของโลกเขาฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนของเขาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อนของดิฉันที่แมนเชสเตอร์รู้กันโดยทั่วว่า ดิฉันชอบค้นคว้าหาความรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมาย และก็รู้ว่านักเขียนในดวงใจของดิฉันคือ เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน (Edward de Bono) เมื่อเพื่อนๆ รู้ว่าปี 2537 ดิฉันได้มีโอกาสเรียนกับเอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน และได้รับสิทธิเป็นตัวแทนสอนระบบการคิดของเขาในประเทศไทย เพื่อนๆ ที่แมนเชสเตอร์จึงตื่นเต้นพอๆ กับดิฉัน เมื่อดิฉันเริ่มเปิดสถาบันเพื่อฝึกระบบของท่านอย่างเป็นทางการตามความฝันที่แรงกล้าของตนเอง เพื่อนรักคนหนึ่งจึงส่งเรื่องของมอนตี้มาให้ เรื่องนี้ช่วยดิฉันได้อย่างมาก และดิฉันว่าอาจจะช่วยท่านผู้อ่านผู้มีฝันได้บ้างเช่นกัน
ความฝันกับความคิดสร้างสรรค์ทำหน้าที่คล้ายกันมาก คือ เป็นตัวที่นำพาปัจจุบันให้ไปสู่อนาคตที่เราต้องการ มีลูกศิษย์ของดิฉันคนหนึ่งเป็นวิศวกร เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว เขาเขียนแสดงความเห็นไว้ว่า“โลกนี้มีการคิดอยู่สองอย่าง คือ Logical Thinking (คิดแบบตรรกะ) กับ Creative Thinking (คิดแบบสร้างสรรค์) ถ้าคิดได้ครบทั้งสองอย่าง อะไรก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น” เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน สอนไว้ว่า ให้ดูรถม้าเป็นตัวอย่าง ม้าเสมือนฝันและความคิดสร้างสรรค์ ส่วนรถที่เทียมม้าเปรียบเสมือนตรรกะหรือลอจิก หรือข้อมูลปัจจุบันที่เป็นอยู่ ท่านบอกว่า ต้องให้ม้าอยู่หน้ารถ คือต้องใช้ฝันและความคิดสร้างสรรค์นำหน้าเพื่อดึงรถให้เดินไปข้างหน้าได้ฝันและครีเอทีฟจะเป็นตัวนำให้ปัจจุบันเดินหน้าไปสู่อนาคตใหม่ๆ ถ้าใครใช้ลอจิกนำหน้า ก็เหมือนเอารถไปไว้ข้างหน้าให้ม้าอยู่ข้างหลัง รถก็จอดอยู่กับที่และไม่ขยับไปไหน แม้ม้าจะออกแรงใช้หัวดันหลังรถเพื่อให้รถเดินหน้า
ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูว่ารถจะเดินหน้าไปท่าไหน และม้าจะทุลักทุเลได้นานสักเพียงใด ดังนั้นถ้าอยากให้องค์กรก้าวหน้าและคล่องแคล่ว ให้ม้านำรถ อย่าให้รถนำม้า
- อ.รัศมี ธันยธร
- ภาพ Kusenkova – Freepik.com