ไขปัญหาพระคัมภีร์ 3/14

ไขปัญหาพระคัมภีร์

ในคริสตสายสัมพันธ์ฉบับนี้ ฝ่ายแปลของสมาคมพระคริสตธรรมไทยจะตอบคำถามสามข้อที่ผู้อ่านพระคัมภีร์ส่งมา คำถามแรกเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของคนสมัยอับราฮัมในเรื่องการวางมือ. ส่วนอีกสองคำถามเกี่ยวกับการแปลพระธรรมอิสยาห์บางข้อและการอ้างอิงพระธรรมนั้นในพระคัมภีร์ใหม่ซึ่งมีผู้เขียนบทความอธิบายว่าสมาคมฯ แปลผิดจากต้นฉบับฮีบรูและกรีก. การตอบคำถามสองข้อหลังนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เราพยายามจะตอบตามเนื้อผ้าโดยปราศจากอคติใดใด และมิได้มุ่งหมายที่จะตอบโต้ผู้ใด เราเคารพความคิดเห็นของทุกท่าน แม้จะไม่เห็นด้วยกับบางความคิดเห็นก็ตาม ฉะนั้นเราจะนำเสนอข้อมูลตามความจริง เพื่อทุกท่านจะได้รับมุมมองอย่างรอบด้าน

ไขปัญหาการแปล การวางมือใต้ขาอ่อน (ปฐมกาล 24:2,9 และ 47:29-31)
คำถามที่หนึ่ง :  การวางมือใต้ขาอ่อนในพระธรรมปฐมกาลนั้นมีความหมายอย่างไร? มีที่มาอย่างไร? แล้วทำไมจึงไม่ปรากฏเรื่องนี้ในพระธรรมอื่นๆ?
คำตอบ : เรื่องการวางมือใต้ขาอ่อนนั้นแตกต่างจากการวางมือแบบอื่นๆ ที่พบในพระคัมภีร์เช่น การวางมือบนศีรษะบุตรหลานเพื่ออวยพร (ปฐมกาล 48:14) การวางมือของปุโรหิตบนหัวสัตว์ก่อนถวายเป็นสัตวบูชา (เลวีนิติ3:8) การวางมือบนผู้ที่จะสืบทอดการเป็นผู้นำ (กันดารวิถี 27:18,20,23) การวางมือบนคนเจ็บป่วยเพื่อให้หายโรค (มาระโก 16:18) การวางมือบนผู้ที่จะรับใช้พระเจ้า(กิจการ 13:3) การวางมือเพื่อแต่งตั้งผู้ทำงานในคริสตจักร (1ทิโมธี 5:22) และการวางมือเพื่อรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กิจการ 8:17)
.
การวางมือใต้ขาอ่อนจะทำควบคู่กันไปกับการสาบานซึ่งเราพบเฉพาะในพระธรรมปฐมกาล สองตอนเท่านั้นคือ
  1. ในเรื่องอับราฮัมสั่งคนรับใช้อาวุโสให้เดินทางไปยังเครือญาติของท่านเพื่อหา ภรรยาให้แก่อิสอัคบุตรของท่าน ดู ปฐมกาลบทที่ 24  และ
  2. ในเรื่องยาโคบกำชับโยเซฟให้ฝังศพตนที่แผ่นดินคานาอัน ดู ปฐมกาล 47:29-31
นัก วิชาการพระคัมภีร์เข้าใจว่า คำว่า “ขาอ่อน” เป็นคำสุภาพที่ใช้หมายถึงอวัยวะเพศชาย. ดังนั้นการวางมือใต้ขาอ่อนแท้จริงก็คือการวางมือที่อวัยวะเพศของผู้ให้สาบาน ซึ่งในที่นี้คืออับราฮัมและยาโคบ. นั่นอาจหมายความว่าผู้สาบานซึ่งในที่นี้คือคนรับใช้อาวุโสและโยเซฟยอมจำนน ต่อสิทธิอำนาจหรือพละกำลังของผู้ให้สาบานโดยยอมทำตามคำปฏิญาณ.
.
การสาบานในลักษณะนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณซึ่งผูกมัดผู้สาบานกับคำ สาบานที่ให้ไว้ และเน้นว่าเรื่องที่ผู้สาบานสัญญานั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ผู้สาบานจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของ ผู้ให้สาบาน. หากปฏิบัติจนเสร็จสิ้นก็พ้นคำสาบาน ดู ปฐมกาล 24:8 แต่หากผิดคำสาบาน ก็อาจถูกลูกหลานของผู้ให้สาบานจัดการด้วยมาตรการใดๆ เพื่อบีบบังคับให้ทำตามสัญญา หรือ อาจเป็นการสาปแช่งผู้สาบานให้ไร้ทายาทสืบสกุล.
.
อย่างไรก็ดี เราไม่ทราบแน่ชัดว่าการวางมืออย่างนั้นมีความหมายอะไร. เรามีเพียงข้อสันนิษฐานของนักวิชาการพระคัมภีร์เท่านั้น. เราไม่ทราบที่มาและที่ไปของธรรมเนียมปฏิบัตินี้. แต่การสาบานในลักษณะนี้มีความหมายทางใจแก่ผู้ให้สาบานและผู้สาบานอย่างแน่ นอน.
.
และในเรื่องการสาบานนั้น อัครทูตยากอบกล่าวว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ อย่าสาบาน ไม่ว่าจะทำโดยอ้างสวรรค์หรือโลกหรืออ้างคำสาบานอื่นใดก็ตาม ถ้าใช่ก็จงบอกว่าใช่ ถ้าไม่ใช่ก็จงบอกว่าไม่ใช่ เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ถูกพิพากษา”  ดังนั้น ขอให้คำพูดของเราเชื่อถือได้โดยไม่ต้องสาบาน.
.
คำถามที่สองและสาม สืบเนื่องมาจากมีผู้พบบทความในเฟซบุ๊กกล่าวพาดพิงถึงการแปลพระคัมภีร์ของ สมาคมฯ เมื่ออ่านแล้วไม่แน่ใจว่าอย่างไหนถูกต้อง จึงได้สอบถามมายังฝ่ายแปลของสมาคมฯ
.
ไขปัญหาการแปล : อิสยาห์ 6:10 และ ยอห์น 12:40
คำถามที่สอง : บทความนั้นว่าสมาคมฯ แปลพระธรรมอิสยาห์ 6:10 และ พระธรรมยอห์น 12:40 ออกมาผิด จึงอยากทราบว่าสมาคมฯ แปลผิดดังว่าหรือไม่? อย่างไร? ขออธิบาย.
คำตอบ : เพื่อความชัดเจนในการตอบคำถามที่สอง ก็ขอแยกตอบออกเป็นสองประเด็นคือ หนึ่ง การแปลพระธรรมอิสยาห์ 6:10 โดยพิเคราะห์ดูเนื้อความในฉบับฮีบรูและความหมายในบริบท และ สอง การแปลพระธรรมยอห์น 12:40 ซึ่งอ้างอิงเนื้อความในพระธรรมอิสยาห์ 6:10
.
ประเด็นที่หนึ่ง  พระธรรมอิสยาห์ 6:10, ฉบับ 2011
“จง ทำให้ใจของชนชาตินี้มืดทึบ. และทำให้หูของเขาตึง. และทำให้ตาของเขาบอด. มิฉะนั้นเขาจะเห็นด้วยตาของเขา. ได้ยินด้วยหูของเขา. และเข้าใจด้วยใจของเขา. แล้วหันกลับมาและได้รับการรักษาให้หาย.”
.
เพื่อจะตอบคำถามได้ถูกประเด็น จำเป็นต้องสรุปความคิดเห็นของผู้เขียนบทความนั้นให้รัดกุมก่อน ท่านผู้นั้นเห็นว่าสมาคมฯ แปลผิด จึงเสนอให้แปลใหม่ว่า
.
“ใจ ของชนชาตินี้เต็มด้วยไขมัน และหูของเขาตึง และตาของเขาปิด เขากลัวว่า ด้วยตาของเขา เขาจะเห็น และด้วยหูของเขา เขาจะได้ยิน และด้วยใจของเขา เขาจะเข้าใจและกลับใจ แล้วถูกรักษาให้หายต่อเขา”
ท่าน ผู้เขียนบทความนั้นอธิบายว่า “การแปลอย่างนี้ทำให้เห็นว่าคนอิสราเอลดื้อเอง ใจแข็งกระด้างเอง ไม่ยอมรับรู้ความรักความเมตตา และความหวังดีของพระเยห์วาห์  แต่พระองค์ก็ยังทรงตามหาพวกเขาเพื่อจะได้พวกเขากลับมาอยู่ในความรักความรอด ความปลอดภัยของพระองค์.”
.
แน่ทีเดียว ผู้เขียนบทความคงเห็นว่า หากแปลตามอย่างสมาคมฯ ก็จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า พันธกิจที่พระยาห์เวห์มอบให้อิสยาห์ทำคือการทำให้คนอิสราเอลใจปิด หูปิด และตาปิด ด้วยเกรงว่าพวกเขาจะกลับใจและรับการเยียวยา. ดูราวกับว่าพระเจ้าทรงต้องการกีดกันพวกเขาจากการกลับใจ. ดังนั้นจึงเสนอคำแปลใหม่เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น. แต่การทำเช่นนั้นเป็นการแปลตรงตามเนื้อความในภาษาเดิมหรือไม่? แท้จริงนักวิชาการพระคัมภีร์บางท่านคิดว่าพระธรรมอิสยาห์ข้อนี้ไม่ได้กล่าว ถึงจุดประสงค์ของงานที่พระยาห์เวห์ทรงมอบหมายแก่อิสยาห์ แต่กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออิสยาห์ทำงานรับใช้พระองค์ต่างหาก. พระยาห์เวห์ทรงให้ท่านทราบล่วงหน้าว่างานนั้นเป็น impossible mission. คนอิสราเอลจะตอบสนองพระดำรัสของพระเจ้าในทางลบ. พวกเขาได้ยินกับหู พวกเขาได้เห็นกับตา แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่เชื่อ  นักวิชาการบางคนเห็นว่าพระวจนะของพระเจ้าที่ประกาศออกไป หากไม่ทำให้ประชาชนกลับใจเชื่อ ก็จะทำให้ใจเขาแข็งกระด้าง.
.
แม้เราจะเห็นด้วยว่า พันธกิจของอิสยาห์มิใช่ทำให้ใจประชาชนด้านชา มิใช่ทำให้หูของพวกเขาหนวก มิใช่ทำให้ตาพวกเขาบอด มิใช่กีดกันคนอิสราเอลจากการกลับใจและการรักษา. แต่การแปลตัองดูที่สำเนาต้นฉบับฮีบรู เราจะแปลตามใจไม่ได้. ตัวเนื้อหาข้อนี้ในฉบับฮีบรูมี Textual Variance  ในข้อนี้ความต่างนั้นอยู่ตรงสระที่กำกับพยัญชนะ ซึ่งส่งผลให้การแปลต่างกันไปด้วย.
.
หนังสือ Hebrew Old Testament Text Project (HOTTP) ซึ่งรวบรวมเหตุผลและการตัดสินใจของบรรดานักวิชาการพระคัมภีร์เกี่ยวกับ Textual Variance ในจุดต่างๆ ของพระคัมภีร์เดิม ได้เสนอทางเลือกในการแปลอิสยาห์ข้อนี้ไว้สองอย่างคือ
  1. แปลคำกริยาสามคำออกมาในรูปคำสั่ง (Imperative) ซึ่งจะแปลได้ว่า “จงทำให้ใจของชนชาตินี้อ้วน (เป็นสำนวนฮีบรูน่าจะหมายถึง จงทำให้ใจของชนชาตินี้เฉื่อยชา) จงทำให้หูของเขาหนัก และ จงปิดตาของเขา.” หรือ
  2. แปลคำกริยาออกมาในรูปกรรมวาจก   ซึ่งจะแปลได้ว่า “ใจของชนชาตินี้ถูกทำให้อ้วน (หมายถึง ถูกทำให้เฉื่อยชา)  และหูของเขาก็ถูกทำให้หนัก และตาของเขาก็ถูกปิด.”
นักวิชาการได้พินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่และลงความเห็นว่า พระธรรมอิสยาห์ข้อนี้ควรแปลแบบที่หนึ่งมากกว่าแบบที่สอง. และนี่เป็นเหตุผลที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐานทั่วโลกรวมทั้งฉบับ NIV  แปลออกมาในรูปคำสั่ง.
.
แน่นอนทีเดียว ควรมีการใส่คำอธิบายความหมายของข้อนี้ไว้ในเชิงอรรถของฉบับศึกษา เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของเนื้อความอย่างถูกต้อง. แต่คำแปลก็ต้องให้ถูกต้องตรงกับสำเนาต้นฉบับฮีบรูด้วยเช่นกัน. ดังนั้นจึงสรุปว่าคำแปลอิสยาห์6:10 ฉบับมาตรฐานนั้นถูกต้องแล้ว ส่วนคำอธิบายก็จำเป็นและควรใส่ไว้ในพระคัมภีร์ฉบับศึกษา.
.
ประเด็นที่สอง พระธรรมยอห์น 12:39-40, ฉบับ 2011
เพราะเหตุนี้ พวกเขาจึงเชื่อวางใจไม่ได้ เพราะอิสยาห์กล่าวไว้อีกว่า“พระองค์ ทรงปิดตาของพวกเขา และทำใจของเขาให้แข็งกระด้างไป เกรงว่าพวกเขาจะเห็นด้วยตา และเข้าใจด้วยจิตใจ และหันกลับมา ให้เรารักษาเขาให้หาย” ข้อความที่เป็นตัวทึบเอนนั้นหยิบยกมาจากพระธรรมอิสยาห์ 6:10 ฉบับเซปทัวจินต์ (ฉบับกรีก)
ผู้ เขียนบทความวิจารณ์ว่า “แปลอย่างนี้เรียกว่าตีความเพราะไปตีความคำว่า “เขา” = “He” คือพระเจ้าสูงสุดเป็นผู้กระทำให้คนอิสราเอลใจปิด ตาปิด หูปิด เพื่อต้องการให้เขากลับใจไม่ได้ ซึ่งไม่จริง เพราะในข้อที่ 42 พวกผู้นำชาวยิวก็เชื่อในพระเยซู นี่ท่านผู้อ่านสังเกตดูสิครับว่า ยน.12:40 อ้างอิงมาจาก อสย.6:10 นั่นน่าตกใจมั้ยครับ? คือถ้าเราแปลผิดแล้ว ข้อที่แปลผิดนี้ถูกยกไปอ้างในพระคัมภีร์ใหม่ถึง 6 ครั้ง อะไรจะเกิดขึ้นกับพระคัมภีร์ของเราเนี่ย? สวัสดีเศร้าๆ เน้อ” ก่อนตอบคำถามข้างต้น ขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านก่อนว่า พระคัมภีร์เดิมที่อ้างอิงในพระคัมภีร์ใหม่นั้นมาจากฉบับกรีกที่เรียกว่า ฉบับเซปทัวจินต์ มิใช่มาจากฉบับฮีบรู ดังนั้นจึงอาจมีเนื้อความต่างจากฉบับฮีบรูบ้าง 
.
พระธรรมอิสยาห์ 6:9-10 มีการอ้างอิงในพระคัมภีร์ใหม่ 5 ครั้งด้วยกัน  และเมื่อพิเคราะห์เนื้อหาที่อ้างอิงในพระคัมภีร์ใหม่ก็พอจะแบ่งออกได้เป็น สามตอน ได้แก่
  • จุดประสงค์ของอุปมาของพระเยซู (คือ ความคลุมเครือสำหรับคนภายนอก แต่เป็นความชัดเจนแก่คนภายในคือสาวกของพระเยซู เนื่องจากพระองค์ทรงอธิบายความหมายอุปมาให้สาวกฟัง) ได้แก่ มัทธิว 13:14-15 มาระโก 4:12 และ ลูกา 8:10
  • คำอธิบายว่าพวกยิวแม้เห็นหมายสำคัญหลายอย่างก็ยังไม่วางใจพระเยซู ได้แก่ ยอห์น 12:40 และ
  • ถ้อยคำของอิสยาห์เป็นจริงเพราะบางคนไม่เชื่อข่าวประเสริฐที่เปาโลประกาศ ได้แก่ กิจการ 28:26-27
แม้ มีการอ้างอิงพระธรรมอิสยาห์ 6:10 ในพระคัมภีร์ใหม่ 5 ครั้ง แต่ก็ไม่อาจแปลให้เหมือนกันได้ทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะเนื้อความในภาษากรีกต่างกัน. หากเนื้อความเหมือนกัน ก็จะแปลเหมือนกัน. แต่หากต่างกัน ก็จะแปลต่างกัน. ผู้เขียนพระคัมภีร์ใหม่อ้างอิงอิสยาห์นี้ในงานเขียนของตนจากฉบับกรีก (ตัวอย่าง มัทธิว 13:14-15) หรือ จากการเก็บใจความสำคัญบางส่วนจากอิสยาห์ (ยกตัวอย่าง ยอห์น 12:40 เมื่อเทียบเคียงกับฉบับเซปทัวจินต์) เพื่ออธิบายเหตุผลที่ประชาชนไม่เข้าใจและไม่เขื่อพระวจนะของพระเจ้า ท่านมัทธิวและท่านลูกาให้คำตอบว่าเป็นเพราะประชาชนเองมีใจเฉื่อยชา หูตึง และ ปิดตาตัวเอง. แต่ท่านยอห์นและท่านเปาโล (ใน โรม 11:8) ว่าเป็นเพราะพระเจ้าทรงทำให้พวกเขาเป็นเช่นนั้น. ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มีสองด้านคือ ในด้านหนึ่ง (คือด้านความรับผิดชอบของมนุษย์) พระเจ้าทรงใช้ผู้รับใช้ของพระองค์มาแจ้งข่าวสารของพระองค์แก่ประชาชน พวกเขาเลือกจะยอมรับหรือจะปฏิเสธก็ได้. แต่เมื่อพวกเขาปฏิเสธพระดำรัสและดูหมิ่นอีกทั้งทำร้ายผู้แทนของพระองค์. ในอีกด้านหนึ่ง (คือด้านอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของพระเจ้า) พระองค์ทรงลงโทษพวกเขาโดยให้เขามีใจแข็งกระด้างยิ่งขึ้นจนยากจะเยียวยาอย่าง ทรงทำแก่ฟาโรห์แห่งอียิปต์ .
.
เนื้อความตอนนี้ในมัทธิวและกิจการเหมือนกัน การแปลถูกต้องแล้วตามภาษากรีกคือแปลรูปประโยคแบบกรรมวาจก นั่นคือ ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ . ส่วนเนื้อความในยอห์นก็ถูกต้องแล้วตามภาษากรีกเช่นกัน คือแปลรูปประโยคแบบกรรตุวาจก นั่นคือ ประธานเป็นผู้กระทำ และประธานเป็นเอกพจน์บุรุษที่สาม  เพียงแต่ผู้เขียนบทความนั้นเห็นว่า สมาคมฯ ตีความผิดว่าเป็นพระเจ้า ซึ่งในความเห็นของท่านนั้นว่าเป็นเขา (หมายถึงคนอิสราเอล) แต่เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยากเพราะหากปรับแก้ตามความคิดของท่านก็น่าจะแปลว่า “เขาปิดตาของพวกเขา และทำใจของพวกเขาให้แข็งกระด้างไป…” คำถามก็คือ เขาไม่ได้ปิดตาตัวเอง แต่ปิดตาของคนหลายคน. เขาคือใคร? ในบริบทน่าจะหมายถึงพระเจ้ามากกว่าจะหมายถึงพวกยิวเอง. ดังนี้จึงสรุปว่าคำแปลพระธรรมยอห์น 12:40 ฉบับ 2011 นั้นถูกต้องแล้ว.
.
สำหรับความหมายของพระธรรมยอห์น 12:40 เราต้องพิเคราะห์ดูโดยอาศัยบริบทที่กว้างขึ้นคือ ยอห์น 12:37-43 เราพบว่าพระเยซูทรงทำหมายสำคัญหลายอย่างต่อหน้าพวกยิว ถึงกระนั้นบางพวกก็ยังไม่เชื่อและไม่วางใจพระองค์ ดู ข้อ 37 (ขณะที่บางพวกเชื่อแต่ไม่แสดงตัวเพราะกลัวพวกฟาริสี ดู ข้อ 42)  ท่านยอห์นเห็นว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นสอดคล้องกับพระธรรมอิสยาห์. หมายสำคัญเหล่านั้นเป็นหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์ของ พระเจ้า. ในเหตุการณ์ดังกล่าว เราเห็นทั้งความรับผิดชอบของมนุษย์และอธิปไตยของพระเจ้า นั่นคือ เมื่อผู้ใดปฏิเสธพระคริสต์ พระเจ้าก็ทรงลงโทษโดยให้ผู้นั้นมีใจแข็งกระด้างยิ่งขึ้น. ท่านยอห์นอาจต้องการสื่อความหมายว่า พระเจ้าเองทรงเป็นผู้กระทำการนั้นแก่ผู้ที่ไม่วางใจพระเยซูคริสต์. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่อาจปรับแก้คำแปลให้สอดคล้องกับความคิดของเราว่าพวกยิวปิดหู ปิดตา และ ปิดใจตัวเอง. แต่เราต้องซื่อสัตย์ที่จะแปลไปตามเนื้อความให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ เขียนในที่นี้คือ อัครทูตยอห์น.
.
ไข ปัญหาการแปล : อิสยาห์ 43:18                                                                                                                                                                                                         คำถามที่สาม:ผู้เขียนบทความในเฟซบุ๊กว่า คำถามที่สาม ผู้เขียนบทความใน facebook ว่า “พระคัมภีร์ไทยและพระคัมภีร์อื่นทั่วโลกแปลพระธรรมอิสยาห์ 43:18 สวนทางกับต้นฉบับฮีบรู เนื่องจากต้นฉบับฮีบรูในอิสยาห์ข้อนี้คือ ?? แปล ว่า “จงจำและไม่ลืม” ซึ่งหมายความว่า พระเจ้ากำลังต่อว่าคนอิสราเอลว่าไม่รู้จักจำพระคุณของพระองค์ที่ทรงช่วยพวก เขาออกมาจากอียิปต์ พวกเขาไม่ได้พินิจพิเคราะห์เลยถึงสิ่งดีที่พระองค์ทรงกระทำให้แก่เขา (ข้อ17)  พูดง่ายๆ พระองค์กำลังตรัสว่า “จงจำและไม่ลืม” แต่พระคัมภีร์ไทยฉบับ 2011 กลับแปลตรงกันข้ามว่า “อย่าจดจำ….อย่าพิเคราะห์…” จึงขอถามว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่? อย่างไร?”
คำตอบ : เมื่อตรวจดูพระธรรมอิสยาห์ 43:18 ในฉบับฮีบรู เราพบข้อความว่า ???? แปล ว่า “อย่าจดจำ…อย่าพิเคราะห์…” เราไม่พบเนื้อความฮีบรูอย่างที่ผู้เขียนบทความอ้างถึงในอิสยาห์ 43:18 ดังนั้น จึงขอสรุปว่า พระคัมภีร์ไทยและทั่วโลกแปลถูกต้องแล้ว.
.
พระองค์ตรัสดังนี้ว่า “อย่าจดจำสิ่งที่ล่วงเลยมาแล้วนั้น อย่าพิเคราะห์เรื่องในอดีต.
.
นี่ แน่ะ เรากำลังทำสิ่งใหม่ๆ บัดนี้ มันงอกขึ้นมา เจ้าไม่เห็นหรือ? และเราจะทำทางในถิ่นทุรกันดาร และแม่น้ำในที่แห้งแล้ง. อิสยาห์ 43:18-19, ฉบับ 2011
.
ความหมายของตอนนี้ก็คือ พระยาห์เวห์ไม่ทรงประสงค์ให้คนอิสราเอลยึดติดกับเหตุการณ์ในอดีตคือการช่วย กู้ออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ แต่พระองค์ทรงเตือนสติพวกเขาว่า พระองค์กำลังทำกิจการใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม นั่นคือการนำประชาชนของพระองค์ผ่านถิ่นทุรกันดารระหว่างบาบิโลนกับอิสราเอล พระองค์จะพาพวกเขากลับบ้านอย่างปลอดภัย. God will make a way where there seems to be no way. ขอพระเจ้าอวยพรทุกคนที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์และต่อพระดำรัสสอนของพระองค์.
.
อ้างอิงท้ายเรื่อง
  1. ปฐมกาล 24:2,9 ว่า อับราฮัมพูดกับคนใช้ของท่านที่อาวุโสที่สุดในบ้าน ผู้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของท่านว่า “เอามือเจ้าวางไว้ใต้ขาอ่อนของเรา…คนใช้จึงเอามือของเขาวางใต้ขาอ่อนของอับ ราฮัมนายของเขา และสาบานต่อท่านตามเรื่องนี้
  2. เมื่ออิสราเอลใกล้จะสิ้นชีพจึงเรียกโยเซฟบุตรชายมาสั่งว่า “ถ้าเจ้ายังนับถือพ่อ ขอให้เอามือเจ้าวางไว้ใต้ขาอ่อนของพ่อ และทำต่อพ่อด้วยความรักมั่นคงและความจริง คือขออย่าฝังศพพ่อไว้ในอียิปต์ เมื่อพ่อล่วงหลับไปอยู่กับบรรพบุรุษของพ่อแล้ว จงนำพ่อออกจากอียิปต์ไปฝังไว้ ณ ที่ฝังศพบรรพบุรุษของพ่อเถิด’ โยเซฟก็สัญญาว่า “ลูกจะทำตามที่พ่อสั่ง” อิสราเอลจึงบอกว่า “จงสาบานต่อพ่อ” โยเซฟก็สาบานต่อบิดา แล้วอิสราเอลก็โน้มตัวลงบนหัวเตียง
  3. พระธรรมยากอบ 5:12 ฉบับ 2011 เราไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้เขียนบทความได้แปลพระนามเฉพาะของพระเจ้าว่า “พระเยห์วาห์” เนื่องจากไม่ถูกต้องเช่นเดียวกับ “พระเยโฮวาห์”  ในพระคัมภีร์เดิมฉบับฮีบรู พวกมาโซเร็ตอันได้แก่พวกนักปราชญ์ด้านพระคัมภีร์ของคนยิวได้นำสระสามตัวของ คำ “อะโดนาย” ใส่กำกับพยัญชนะสี่ตัวที่เป็นพระนามเฉพาะของพระเจ้า โดยมุ่งหวังให้ผู้อ่านพระคัมภีร์เมื่ออ่านมาถึงพระนามเฉพาะก็ให้อ่านว่า “อะโดนาย” แทนที่จะผสมสระกับพยัญชนะเหล่านั้นแล้วออกเสียงว่า “ยะโฮวา” หรือ “เยโฮวาห์” ทั้งนี้เพื่อเป็นการเลี่ยงไม่ออกเสียงพระนามของพระเจ้า ด้วยถือว่าเป็นการผิดพระบัญญัติข้อสามที่ว่า “อย่าออกพระนามพระเจ้าอย่างไม่สมควร” อย่างไรก็ดี ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูบางฉบับ ได้ใส่สระเพียงสองตัวที่พยัญชนะสี่ตัวนั้นโดยละสระโอไว้ แต่มีหลักการเหมือนเดิมคือให้ออกเสียงว่า “อะโดนาย” มิใช่ “เยห์วาห์”
  4. แม้อิสยาห์ทราบว่าผลจะออกมาอย่างนั้น แต่ท่านก็ยังซื่อสัตย์ในการประกาศข่าวสารของพระเจ้าแก่ประชาชนของพระองค์. ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครกลับตัวกลับใจ แต่ท่านยังคงประกาศอย่างมุ่งมั่น ท่านล้มเหลวเช่นเดียวกับสเทเฟนในพระคัมภีร์ใหม่ ผู้ได้รับหินสามพันก้อน (หมายเหตุ : ผู้เขียนกล่าวโดยอุปมา แท้จริงพระคัมภีร์มิได้ระบุไว้.) กระหน่ำลงบนตัวของท่าน แทนที่จะได้คนสามพันคนกลับใจอย่างเปโตรกระนั้นหรือ? ความสำเร็จวัดที่ตัวเลขหรือ? เปล่าเลย ความสำเร็จในครรลองของพระเจ้านั้นวัดกันที่ความซื่อสัตย์ต่อพันธกิจซึ่งทรง มอบหมายให้ทำต่างหาก. และจากมุมมองนี้ อิสยาห์ก็พบความสำเร็จในพันธกิจเช่นเดียวกับสเทเฟน. แล้วท่านเล่า วัดความสำเร็จของพันธกิจด้วยอะไร?
  5. หมายถึงมีเนื้อหาในภาษาเดิมแตกต่างอันเนื่องมาจากสำเนาต้นฉบับต่างกัน ดังนั้นจึงส่งผลต่อความหมายและการแปลที่ต่างกัน.
  6. Passive Voice หมายความว่า ประธานของประโยคคือผู้ถูกกระทำ
  7. แน่นอนทีเดียว แม้จะแปลข้อนี้ออกมาแบบที่สอง ก็ยังต้องถามต่อเพื่อความเข้าใจว่า ใครเป็นผู้ทำกริยาข้างต้น?
  8. New International Version
  9. ยกตัวอย่าง อิสยาห์ 7:14 ฉบับฮีบรูว่า “หญิงสาว” แต่ มัทธิว 1:23 ได้อ้างจากพระธรรมอิสยาห์ฉบับกรีกว่า “หญิงพรหมจารี” ทางสมาคมฯ ก็ซื่อสัตย์ในการแปลคำนี้ของพระคัมภีร์เดิมกับพระคัมภีร์ใหม่ให้แตกต่างกัน โดยไม่เอาศาสนศาสตร์เรื่องพระเยซูประสูติจากหญิงพรหมจารีมาคลุมการแปลพระธร รมอิสยาห์โดยไปปรับเปลี่ยนจาก “หญิงสาว” มาเป็น “หญิงพรหมจารี”
  10. บางคนเข้าใจว่า 6 ครั้งโดยรวม โรม 11:8 เข้าไว้ด้วย เพราะเนื้อความคล้ายกับอิสยาห์ 6:10 แต่ที่จริงพระธรรมโรมข้อนั้นอ้างอิงจาก เฉลยธรรมบัญญัติ 29:4 ต่างหาก
  11. อ่าน อพยพ 4:21; 7:13-14 ประกอบ.
  12. มัทธิว 13:14-15 ว่า สภาพของพวกเขาก็เป็นไปตามคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่ว่า ‘พวกเจ้าจะได้ยินกับหูก็จริง แต่จะไม่เข้าใจ จะดูก็จริง แต่จะไม่เห็น. เพราะว่าชนชาตินี้กลายเป็นคนมีใจเฉื่อยชา หูก็ตึง และตาของพวกเขาก็ปิด เกรงว่าเขาจะเห็นด้วยตา จะได้ยินด้วยหู และจะได้เข้าใจด้วยจิตใจ แล้วจะหันกลับมา และเราจะรักษาพวกเขาให้หาย’
  13. ยอห์น 12:39-40 ว่า เพราะเหตุนี้ พวกเขาจึงเชื่อวางใจไม่ได้ เพราะอิสยาห์กล่าวไว้อีกว่า
“พระองค์ ทรงปิดตาของพวกเขา และทำใจของเขาให้แข็งกระด้างไป เกรงว่าพวกเขาจะเห็นด้วยตา และเข้าใจด้วยจิตใจ และหันกลับมา ให้เรารักษาเขาให้หาย”
  • อ.ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ Monsterstudio – Freepik.com