ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน?

ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน?

ผมไปร่วมการประชุม Baptist World Alliance (BWA) ที่เบอร์มิงแฮม  ประเทศอังกฤษและได้ ฟัง ดร. เดวิด คอฟฟี ประธาน BWA เล่าเรื่องน่าคิดให้ฟังเรื่องหนึ่ง รู้สึกอยากแบ่งปันให้ฟังดังนี้

ครั้งหนึ่ง ดร. อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์  เดินทางโดยรถไฟขบวนหนึ่ง……

พนักงานเดินตั๋ว เดินตรวจตั๋วมาจนถึง ดร. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า….

          “ขอดูตั๋วหน่อยครับ!”

เมื่อ ดร. ไอน์สไตน์ ได้ยินก็ก้มลงใต้ที่นั่งประหนึ่งว่ากำลังมองหาตั๋วอยู่!

สักครู่หนึ่งคนตรวจตั๋วก็อุทานขึ้นว่า …

“ท่านคือ ดร. อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ใช่ไหมครับ! ท่านไม่ต้องหาตั๋วหรอกครับ  ท่านทำคุณประโยชน์ให้แก่โลกนี้มามากมายนัก …..ไม่เป็นไรหรอกครับ ในเรื่องตั๋ว…”

ว่าแล้วพนักงานเก็บตั๋วก็เดินจากไป

สักครู่หนึ่ง พนักงานคนเดิมก็เดินกลับมาอีกครั้ง พบ ดร. อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์  กำลังก้ม ๆ เงย ๆ อยู่ที่ใต้ที่นั่งเช่นเดิม  เขาจึงพูดขึ้นว่า..

“ท่าน ไอน์สไตน์   ครับ….ท่านไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องตั๋วหรอกครับ…..ไม่ต้องหาหรอกครับ!”

ดร. ไอน์สไตน์ เงยหน้าขึ้นมองคนเก็บตั๋ว พลางกล่าวว่า..

“พ่อหนุ่ม ….ฉันไม่ได้หาตั๋วมาให้ตรวจหรอกนะ….แต่ฉันกำลังค้นหาตั๋วเพื่อจะรู้ว่าฉันกำลังจะไปที่ไหนต่างหาก! ! ! ! ! !”

 

คนจำนวนไม่น้อยในสังคมปัจจุบันที่กำลังก้มหน้าก้มตาหาคำตอบอยู่ว่า…. “เป้าหมายปลายทางของชีวิตของตนคืออะไร?”

แม้กระทั่ง ดร. อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์  นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกก็ยังคงมีปัญหาเช่นเดียวกัน!

ไอน์สไตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2422 ที่เมือง อูล์ม ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี!

ไม่มีสัญญาณใดๆ ส่อให้เห็นว่า เขาจะกลายมาเป็นผู้เกิดมายิ่งใหญ่เลย  ศีรษะโตเกินไป  สองขวบครึ่งยังไม่พูด  และเมื่อเริ่มพูด จะพูดซ้ำ 2 ครั้งทุกครั้ง  เข้ากับเด็กอื่นไม่ได้ ชอบเล่นตามลำพัง จนได้รับฉายาจากเพื่อน ๆ ว่า ….

“เจ้าหนูน่าเบื่อ”!

ไอน์สไตน์ ชอบเครื่องเล่นประเภทจักรกลเป็นพิเศษ

เมื่อน้องสาวเพิ่งเกิดมาใหม่ ๆ   เขาพูดว่า . . “ก็น่ารักดีหรอก!”  จากนั้นก็ถามด้วยความสงสัยว่า…

“….แต่ล้ออยู่ที่ไหนล่ะ?”

แต่ปรากฎว่าเมื่อเขาเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายในเมืองมิวนิก  ไอน์สไตน์กลับทำคะแนนได้ดีเกือบทุกวิชา  เพียงแต่เขาเกลียดกฎระเบียบที่เคร่งครัด จนในที่สุดเมื่ออายุ 15 ปี เขาก็ลาออกจากโรงเรียน!

จากนั้นเขาได้เข้าศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  อย่างมีเสรีภาพ เขาเก่งในวิชาคณิตศาสตร์  และฟิสิกส์ และเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงซูริก!

ที่มหาวิทยาลัยนั้น เขาตกหลุมรักเพื่อนนักศึกษาชื่อ มิเลวา มาริตซ์  สาวชาวเซิร์บ

 

ไอน์สไตน์ ในวัย 21 ปี สำเร็จการศึกษาและต่อมาทำงานเป็นผู้ช่วยสอน และครูสอนพิเศษ

ในปี 2445 เขาได้ทำงานเป็นผู้ชำนาญพิเศษด้านเทคนิคที่สำนักงานสิทธิบัตรในกรุงเบิร์น  และแอบใช้เวลางานมาพัฒนาความคิดของตนเอง

จนในที่สุดก็ได้สร้างผลงานสมการที่มีชื่อเสียงเลื่องลือที่สุดในโลก ของทฤษฏีสัมพัทธภาพพิเศษ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสสารและพลังงานที่มีสูตรว่า..

E = mc2

แต่น่าคิด!!!  ในขณะที่ ไอน์สไตน์  สามารถแก้ปัญหายากที่สุดด้านฟิสิกส์ได้ แต่ตัวเขาเองกลับไม่อาจแก้ปัญหาความสัมพันธ์ในชีวิตส่วนตัวได้!

แม่ของเขาไม่เห็นด้วยกับการที่เขาจะแต่งงานกับมิเลวา   จึงเลื่อนงานแต่งงานออกไป จนในปี 2444 มิเลวาตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรสาว แต่ต้องยกให้ผู้อื่นรับไปอุปการะ  อยากไรก็ตามในที่สุด ในเดือนมกราคม 2446   ทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกัน และมีลูก 2 คน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตการแต่งงานของทั้งคู่ไม่ราบรื่น ไม่กี่ปีต่อมาไอน์สไตน์ก็คบกับผู้หญิงอื่น และมิเลวา กลายมาเป็นแม่บ้านผู้ไร้ความสุข และทั้งคู่หย่าขาดในปี 2462 โดยไอน์สไตน์ แต่งงานกับ เอลซา ซึ่งเป็นญาติที่เขามีความสัมพันธ์ด้วยกันเป็นพิเศษ

ชีวิตของไอน์สไตน์ เริ่มประสบกับชื่อเสียงที่ขจรขจายไปทั่วโลก โดยในปี 2464 ไอน์สไตน์ ได้รับรางวัลโนเบล

หลังจากนั้นเขาได้อาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ในฐานะผู้บริหารของสถาบันแห่งใหม่ โดยได้รับค่าตอบแทนสูงลิ่ว  แต่เขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการค้นคิดสิ่งสำคัญใด ๆ อีกเลย  แต่กลับชอบนอกลู่นอกทางมากขึ้น

เมื่อนาซี มีอำนาจขึ้นในปี  2476 และมีการค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียส์ฟิสชันในกรุงเบอร์ลิน ช่วงนั้น ไอน์สไตน์ อพยพไปอยู่สหรัฐและในวันที่ 2 สิงหาคม 2482 ไอน์สไตน์ เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี  รุสเวลต์ ว่า..

“ระเบิด(ปรมาณู) แบบนี้ เพียงลูกเดียว หากระเบิดในท่าเรืออาจทำลายท่าเรือทั้งหมด รวมถึงบริเวณโดยรอบด้วย”

แต่ประธานธิบดีของสหรัฐไม่ได้สนใจคำทักท้วงนั้น กลับพัฒนาระเบิดปรมาณูเป็นโครงการลับและนำไปโจมตี เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ของญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2488

ไอน์สไตน์ เสียใจ และเสียชีวิต ในปี 2498 เมื่ออายุ 76 ปี!

แม้ว่าเป้าหมายในบั้นปลายของอัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ จะพยายามรณรงค์ให้ยุติการสร้างสมกำลังทหาร และส่งเสริมสันติภาพ และประชาธิปไตย  แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามของไอน์สไตน์จะไม่เกิดผลดังที่เขาหวัง!

วันนี้ คุณล่ะมีเป้าหมายอะไรในชีวิต?

อาจเป็นไปได้ว่าคุณจะไม่มีทางทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้เลยก็ตาม แต่หากเป้าหมายนั้นมีค่าคู่ควรต่อการทุ่มเท  คุณจะไม่ลองทุ่มเทความตั้งใจและพลังงานลงไปหรือ?

โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน เคยกล่าวไว้น่าคิดว่า…

“เป้าหมายแห่งชีวิต คือ โชคชะตาเดียวที่ควรค่าแก่การค้นหา”

(An Aim in life is the only fortune worth finding.)

และซัมเมอร์เซ็ต วอห์ม ก็เคยกล่าวไว้เป็นแนวทางแห่งการบรรลุเป้าหมายนั้นว่า..

“เมื่อใดก็ตามที่ท่านมีเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ท่านต้องสละเสรีภาพบางประการเพื่อจะได้มันมา”

(Whenever you have an aim you must sacrifice something of freedom to attain it.”

 

แต่เป้าหมายชีวิตของคุณควรเป็นเป้าหมายที่ตรงกับพระประสงค์ของพระเจ้า ที่ทรงประสงค์จะให้คุณเป็นเหตุหรือช่องทางให้พระองค์ทรงอวยพรคุณและคนอื่น ๆ ได้

ดังที่ผู้เผยพระวจนะมีคาห์ เคยเปิดเผยไว้เมื่อหลายพันปีก่อนว่า..

“มนุษย์เอ๋ย  พระองค์ทรงสำแดงแก่เจ้าแล้วว่า  อะไรดี  เพราะพระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรจากเจ้า นอกจากให้กระทำความยุติธรรม และรักสัจกรุณา  และดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมใจไปกับพระเจ้าของเจ้า

หวังว่า วันนี้ คุณจะไม่มะงุมมะง่าม มัวแต่คว้าหาตั๋วเพื่อดูว่า ปลายทางของคุณควรจะไปที่ไหน เหมือนอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กระทำในตอนต้นเรื่องหรอกนะครับ!


  • บทความ ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์
  • ภาพ Freepik.com