500 ปี การปฏิรูปคริสตศาสนา 4/17

500 ปี การปฏิรูปคริสตศาสนา

     การกอบกู้มนุษย์จากความบาป คือพระประสงค์สูงสุดของพระเจ้า พระองค์มีแผนการนำมนุษย์กลับคืนสู่​สภาพเดิมที่ทรงสร้าง พระสัญญาแห่งการไถ่ให้รอดเผยให้เห็นตั้งแต่บาปเข้ามาในโลก (ปฐก. 3:15) เมื่อทรงชำระโลก เรือโนอาห์เป็นที่หลบภัยของมนุษย์จนกระทั่ง “​เมื่อ​​ครบกำหนดแล้ว พระ​เจ้า​ก็​ทรง​ใช้​พระ​บุตร​ของ​พระ​องค์​มา” (กท. 4:4) พระเยซูทรงเป็น “นาวา” สุดท้ายของมนุษย์ เพื่อนำเราไปสู่แผ่นดินของพระเจ้า ก่อนที่ “โลก​ธาตุ​ก็​จะ​สลาย​ไป​ด้วย​ไฟ” (2 ปต. 3:12) ตั้งแต่เสด็จสู่สวรรค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำงานผ่าน    คริสตจักรที่สถาปนาให้เป็นพระกายที่มีชีวิตของพระคริสต์ เป็นประตูแห่งความรอด ทำหน้าที่เชิญชวนให้คนทั้งหลายเข้ามาพบความรอด จนถึงวันที่พระองค์เสด็จกลับมา
     หญิงสาวผู้รอคอยเจ้าบ่าวจะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาพรหมจรรย์ของเธอไว้ เพื่อมอบให้แก่ชายที่เธอรักเท่านั้น คริสตจักรก็เช่นเดียวกัน  พระเยซูทรงเปรียบคริสตจักรเป็นเจ้าสาวของพระองค์ “พระ​คริสต์​ทรง​รัก​คริสต​จักร และ​ประ​ทาน​พระ​องค์​เอง​เพื่อ​คริสต​จักร” (อฟ. 5:25) พระคริสต์ทรงกระทำทุกสิ่ง “เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​คริสต​จักร​บริ​สุทธิ์​โดย​การ​ชำระ​ด้วย​น้ำ​และ​พระ​วจนะ เพื่อ​พระ​องค์​จะ​ได้​คริสต​จักร​ที่​มี​ศักดิ์​ศรี ไม่​มี​ด่าง​พร้อย ริ้ว​รอย หรือ​มล​ทิน​ใดๆ เลย แต่​บริ​สุทธิ์​ปราศ​จาก​ตำ​หนิ” (อฟ. 5:25-27) จนถึงวันอภิเษกสมรสอันยิ่งใหญ่ เมื่อ “มหาชน” จะร่วมกันเปล่งเสียง “ขอ​ให้​เรา​ยินดี​และ​เปรม​ปรีดิ์ และ​ถวาย​พระ​เกียรติ​แด่​พระ​องค์ เพราะ​งาน​อภิ​เษก​สม​รส​ของ​พระ​เมษ​โป​ดก​มา​ถึง​แล้ว และ​เจ้า​สาว​ของ​พระ​องค์​ก็​เตรียม​ตัว​พร้อม​แล้ว”
     เจ้าสาวของพระคริสต์คือหญิงพรหมจารี “มี​ศักดิ์​ศรี ไม่​มี​ด่าง​พร้อย ริ้ว​รอย หรือ​มล​ทิน​ใดๆ เลย แต่​บริ​สุทธิ์​ปราศ​จาก​ตำ​หนิ” เธอจะ “​สวม​ใส่ผ้า​ป่าน​เนื้อ​ละเอียด มัน​ระยับ​และ​สะอาด เพราะ​ว่า​ผ้า​ป่าน​เนื้อ​ละเอียด​นั้น​คือ​การ​ประ​พฤติ​อัน​ชอบ​ธรรม​ของ​ธรร​มิก​ชน” (วว. 19:8) การนุ่งห่มด้วยผ้าขาวสะอาด คือการรับพระคุณของพระคริสต์และการประพฤติอันชอบธรรม เป็นคุณลักษณะสำคัญของเจ้าสาวของพระองค์
     คริสตจักร จึงเป็นสิ่งที่พระคริสต์ทรงรักและหวงแหน ศัตรูของความจริงทราบดี ด้วยเหตุนี้การทำลายคริสตจักรของซาตานจึงไม่หยุดนิ่ง ตั้งแต่การสร้างโลก การเลือกชนชาติอิสราเอลเพื่อเป็นสื่อกลางนำข่าวประเสริฐไปสู่ชาวโลก ถูกฝ่ายศัตรูทำลายสิ้น จนถึงวันที่พระเยซูประสูติ การทำลายล้างยิ่งรุนแรง ดูเหมือนซาตานมีชัยชนะ แต่สุดท้ายมารต้องพ่ายแพ้เมื่อพระองค์เป็นขึ้นมาจากความตาย และเสด็จสู่สวรรค์ (วว. 12:1-5) การทำลายแผนการไถ่มนุษย์ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง เมื่อศัตรูทำลายพระคริสต์ไม่ได้ จึงหันไปทำลายผู้เชื่อและคริสตจักรของพระองค์
     คำพยากรณ์ในวิวรณ์บทที่  6:1-8 ฉายให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของคริสตจักร โดยอุปมาจากภาพของม้าสี่ตัว
     • ม้าสีขาว หมายถึง ความเชื่อที่บริสุทธิ์      คริสตจักรในยุคของอัครสาวก ออกไป “อย่าง​มี​ชัย และ​เพื่อ​จะ​ได้​ชัย​ชนะ”  นักเขียนชาวโรมันคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “คริสเตียนของพวกคุณอยู่ทุกหนทุกแห่ง พวกคุณอยู่ในกองทัพของเรา ในกองเรือรบของเรา อยู่ในตลาดและร้านค้าของเรา พวกคุณมีคนอยู่ในรัฐสภาและมหาวิทยาลัย พวกคุณมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง” ที่ไม่มีสิ่งใดสามารถหยุดยั้งพลังอำนาจของข่าวประเสริฐได้ คริสตจักรในยุคแรกในสมัยอัครสาวก มีความจริงของพระเจ้าเป็นอาวุธ เต็มล้นด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้สร้างความสั่นสะเทือนโดยตรงต่ออาณาจักรโรมันในยุคนั้น
     • ม้าสีแดง หมายถึง ความเชื่อแห่งการสูญเสียเลือดเนื้อ แปดเปื้อนด้วยเลือดของธรรมิกชน หลังจากสมัยของอัครสาวก “เอา​สันติ​ภาพ​ไป​จาก​แผ่น​ดิน​โลก” เป็นยุคที่มีการใช้อำนาจบ้านเมืองกดขี่และทำลายคริสเตียนอย่างเลวร้ายที่สุดขณะที่โรมันเรืองอำนาจ ผู้เขียนบันทึกเหตุการณ์ยุคนั้นกล่าวว่า “หยดเลือดของบรรดาผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ เป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ข่าวประเสริฐ ยิ่งกดขี่ทำลายมากเท่าไร ก็ยิ่งเบ่งบานเติบโตมากขึ้นเท่านั้น”
     • ม้าสีดำ หมายถึง ความเชื่อแท้ยอมประนี ประนอมกับคำสอนของคนนอกศาสนา ในยุคนั้น คริสตจักรขยายใหญ่โตและมีอำนาจทางการเมือง แต่อำนาจของพระวจนะและความจริงกลับเสื่อมถอย
     • ม้าสีกะเลียว (สีเขียวอมดำ) ผู้ขับขี่ชื่อว่า มัจจุราช สภาพของคริสตจักรเหมือนคนใกล้ตาย ในยุคมืดของคริสตจักร มีการกดขี่ทำลายบรรดาคริสเตียนผู้ยึดมั่นในคำสอนของพระคัมภีร์ คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ต้องหลบหนีไปอยู่ตามป่าเขา รักษาความเชื่อและพระคัมภีร์ไว้ ส่วนคริสตจักรในเมืองและอาณาจักรรวมเข้าด้วยกัน คริสตจักรมีสภาพจิตวิญญาณที่ตายด้าน เป็นยุคของความมืดมนฝ่ายจิตวิญญาณ
สู่ยุคแห่งการปฏิรูป  
     ตลอดหลายศตวรรษของการกดขี่ข่มเหง ความขัดแย้งและความมืด พระเจ้าทรงค้ำจุนคริสตจักรไว้ ไม่มีความมืดมัวใดที่เกิดขึ้นที่พระองค์ไม่ได้เตรียมการณ์ไว้ ไม่มีกองกำลังใดซึ่งเกิดขึ้นมาต่อสู้กับราชกิจของพระองค์ที่พระเจ้ามิได้ทราบล่วงหน้า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามที่พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ พระเจ้าไม่เคยละทิ้งคริสตจักรของพระองค์ แต่ทรงพยากรณ์ให้เห็นอย่างเปิดเผยว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น และพระวิญญาณของพระองค์ทรงดลใจบรรดาผู้เผยพระวจนะบอกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า พระประสงค์ทุกอย่างของพระองค์จะต้องสำเร็จจริงตามนั้น พระบัญญัติของพระเจ้าเชื่อมโยงเข้ากับพระบัลลังก์ของพระองค์ และไม่มีอำนาจชั่วร้ายใดสามารถทำลายได้ พระเจ้าทรงดลใจให้เผยความจริงและทรงปกป้องไว้ สิ่งนี้จะมีชัยชนะเหนือบรรดาผู้ต่อต้านทั้งหมด
     ในปี ค.ศ. 1517 ห้าร้อยปีที่แล้วเกิดแนวคิดให้มีการปฏิรูปคริสตศาสนา มาร์ติน  ลูเธอร์ (ค.ศ. 1483-1546)  บาทหลวงชาวเยอรมัน เป็นผู้จุดไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงของคริสตจักรให้ลุกโชนขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านศาสนา สังคม การเมืองและวิชาการในยุโรป นำไปสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาในทุกด้านมาจนถึงปัจจุบัน
     เมื่อปี 2014 ผู้เขียนมีโอกาสเข้าเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์สถานการปฏิรูปศาสนานานาชาติ” (International Museum of the Reformation) ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งจัดแสดงให้เห็นถึงกระบวนการและขั้นตอนของการปฏิรูป คริสตศาสนาอย่างชัดเจน พร้อมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของนักปฏิรูปที่ยังเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา   อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ติดกับโบสถ์เซนต์ปิแอร์ ซึ่งสร้างขึ้นมาเมื่อ ค.ศ. 1160
     ถึงแม้การปฏิรูปศาสนาเริ่มต้นเมื่อประมาณศตวรรษที่สิบหก ความต้องการให้มีการปฏิรูปภายในศาสนจักรคาทอลิกเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกลาง โดยการนำของจอห์น  ฮัส จากกรุงปราก โบฮิเมีย (เชคโกสโลวาเกีย) แต่กลับจบลงด้วยเขาถูกจับเผาไฟทั้งเป็นในปี ค.ศ. 1415 ลูเซียน เฟบว์เร นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า การปฏิรูปเกิดขึ้นมิใช่เพราะการดำเนินงานที่ย่ำแย่ แต่เพราะเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คริสตจักรยอมให้ข่าวประเสริฐถูกบิดเบือน
     จุดประสงค์สำคัญของนักปฏิรูปศาสนา คือการนำเอาความจริงของคริสตศาสนา ข่าวประเสริฐที่สั่งสอนโดยพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์ในยุคแรกของคริสเตียนกลับมา นักปฏิรูปเห็นว่าหลายศตวรรษที่ผ่านมา คริสตจักรทำให้คำสอนคลุมเครือ ประชาชนหวาดกลัวนรก จึงมีผู้สนใจใคร่รู้ว่าพระคัมภีร์สอนอย่างไรกันแน่ เมื่อพบด้วยตนเองว่าพระเจ้าแห่งพระคัมภีร์ ไม่ใช่พระเจ้าผู้พิโรธคนบาปและพิพากษาเขาให้ตกนรก ภาพที่พบคือ พระบิดาผู้ส่งพระเยซู พระบุตรของพระองค์มาเพื่อมอบความรอดให้แก่มนุษย์
     นักปฏิรูปเหล่านี้พบว่า ข่าวประเสริฐหยิบยื่นความอบอุ่นใจแทนความน่ากลัวของการถูกพิพากษาโทษ มากยิ่งกว่าการซื้อใบล้างบาป เพื่อให้หลุดพ้นจากแดนชำระ นักปฏิรูปโต้แย้งว่า ไม่มีใครสามารถซื้อหรือขายสวรรค์ได้ พระคริสต์ผู้สิ้นพระชนม์และเป็นขึ้นมา ทรงยินดีให้ทุกคนที่เชื่อพระองค์เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์ได้ด้วยพระคุณอันล้นเหลือ นักปฏิรูปค้นพบในข่าวสารของเปาโลที่เผยให้เห็นว่า ความรอดของมนุษย์ได้มาโดยความเชื่อในพระคริสต์ ไม่ใช่เด้วยการประพฤติ
     ขณะที่นักปฏิรูปหันกลับไปหาแหล่งที่มาของความเชื่อที่แท้จริง ด้วยคำถามว่า คริสตจักรอ้างสิทธิใดในการสั่งสอนเช่นนั้น คริสตจักรถูกกล่าวหาว่าปล้นเอาความรอดไป นับจากจุดเริ่มต้นนี้นำไปสู่ความขัดแย้ง ข้างหนึ่งคือ คริสตจักร ผู้คอยปกป้องประตูสู่สวรรค์ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนักปฏิรูป ผู้เรียกร้องให้หันกลับไปหาพระคัมภีร์ พระวจนะที่ประกาศว่า ความรอดของพระคริสต์เป็นสิ่งที่ได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ นักวิชาการด้านมนุษยวิทยาชื่อ  อีรัสมัส เตือนมาร์ติน  ลูเธอร์ ว่าท่านกำลังทุบ “หม้อข้าว” ของบรรดานักบวช และจะจบลงด้วยความยุ่งยากวุ่นวาย
สรุปการปฏิรูปศาสนาโดยสังเขป
     เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของคริสเตียน ยุคแรกของการปฏิรูปศาสนา มีหลายกลุ่มที่ลุกขึ้นมา เป็นกลุ่ม “คนที่เหลืออยู่” (Remnant) คนเหล่านี้กลับไปยึดมั่นหลักความเชื่อที่ถูกต้องของพระคัมภีร์ ขณะที่อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจึงขัดขวาง ฝ่ายคนที่เหลืออยู่ ยึดเอาพระคัมภีร์และพระคัมภีร์เท่านั้นเป็นที่มาของความเชื่อ แสดงตนว่าไม่เห็นด้วยกับคำสอนของคริสตจักร การค้นหาความจริงจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติ ศาสตร์ที่ผ่านมา กลุ่มปฏิรูปต่อไปนี้ คือ ผู้ริเริ่มและนำความจริงแต่ละเรื่องของพระคัมภีร์มาสู่คริสตจักร
กลุ่มวอลเดนส์ (Waldersee) และยุคก่อนการปฏิรูปศาสนา
     นักวิชาการเชื่อว่าก่อนหน้าเกิดกลุ่มวอลเดนส์ มีคริสเตียนเน้นการวนกลับไปมีความเชื่อเหมือนยุคอัครสาวก มีชีวิตอยู่อย่างสมถะและประกาศข่าวประเสริฐ กลุ่มวอลเดนส์โดยการนำของปีเตอร์  วอลโด อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีและตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 12 คริสเตียนกลุ่มนี้นำเอาความจริงของพระคัมภีร์กลับคืนมา ยึดเอาหลักคำสอนในพระธรรมเท่านั้น จึงเป็นกลุ่มนำร่องการปฏิรูปศาสนาไปสู่ศตวรรษที่สิบสี่ โดยการนำของนักปฏิรูปรุ่นต่อมา ได้แก่ จอห์น ไวคลิฟ (ค.ศ. 1329-1384) ผู้เน้นการเทศนาและเขียนหนังสือ ยกย่องสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์เหนือทั้งนักบวชและฆราวาส จอห์น  ฮัส (ค.ศ. 1369-1415) และเจอโรม (ค.ศ. 1370-1416)
     จอห์น ไวคลิฟ เน้นการเทศนาและเขียนหนังสือ ยกย่องสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์อยู่เหนือนักบวช ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับคริสตจักรคาทอลิกคือ  (1) การดำเนินงานของคริสตจักร (2) บทบาทและอำนาจของพระสันตะปาปา (3) การทำหน้าที่ปุโรหิต (4) การใช้พระคัมภีร์และอำนาจในการสั่งสอนพระวจนะ ไวคลิฟ สอนและอธิบายพระคัมภีร์ตามความหมายที่ชัดเจน ให้ทุกคนกลับไปค้นคว้าความจริงในพระธรรม ทำให้จอห์น  ฮัส และ เจอโรม ดำเนินรอยตาม และทั้งหมดยอมสละชีวิตเพื่อความเชื่อ
มาร์ติน ลูเธอร์, จอห์น คาลวิน และอูริค สวิงลี 
     ศตวรรษที่ 16 ลูเธอร์ (ค.ศ. 1483-1546)   สวิงลี (ค.ศ. 1484-1531) และคาลวิน (ค.ศ. 1509-1564) เป็นผู้นำในการต่อต้านการใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกต้องของผู้นำคริสตจักร ทั้งสามท่านประสงค์ให้มีการปฏิรูปหลักความเชื่อเกี่ยวกับคริสตจักร โครงสร้าง อำนาจการบริหาร และพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับความรอด การต่อต้านเน้นไปที่หลักศาสนศาสตร์ ด้วยการเรียกร้องให้กลับไปมีคริสตจักรแบบอัครสาวก ซึ่งเน้นความรอดบาปบนคำสอนของพระคัมภีร์เท่านั้น (Sola scriptura)
     ลูเธอร์ นำเอาความจริงเรื่องการเป็นปุโรหิตของผู้เชื่อทุกคนกลับคืนมา ความเชื่ออยู่บนพระวจนะของพระเจ้า เน้นให้เห็นว่าคริสตจักรแท้ของพระคริสต์ ตั้งอยู่บนข่าวประเสริฐของพระเยซู และความเชื่อเรื่องความรอดที่ลูเธอร์ ค้นพบจากประสบการณ์ความรอดของตนเอง จากพระธรรมโรม 1:17 “คน​ชอบ​ธรรม​จะ​มี​ชีวิต​ดำ​รง​อยู่​โดย​ความ​เชื่อ”
     ขณะที่สวิงลี นักปฏิรูปชาวสวิส เห็นด้วยกับคำสอนเรื่องการเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อของลูเธอร์ จึงพยายามให้ทุกคนหันไปยึดมั่นในพระคัมภีร์ และพระคัมภีร์เท่านั้น ปฏิเสธคำสอนและวิถีปฏิบัติที่ไม่สามารถพิสูจน์ว่ามาจากพระคัมภีร์
     การปฏิรูปศาสนาชัดเจนขึ้นในเยอรมนี ในปี ค.ศ 1517 เมื่อมาร์ติน ลูเธอร์ เขียนญัตติ 95 ข้อ คัดค้านการขายใบล้างบาป ติดไว้หน้ามหาวิหารแห่งเมืองวิตเตนบูร์ก การกระทำและญัตติของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในเยอรมนี
     จอห์น  คาลวิน นักปฏิรูปชาวฝรั่งเศส ได้รับการยอมรับโดยลูเธอร์ หลังจากที่เขาเขียนหนังสือตอบคาร์ดินัล ซาลโดเลโต (Reply to Cardinal Saldoleto ค.ศ. 1539) ซึ่งกล่าวถึงสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ตามความเชื่อของบรรพบุรุษแห่งความเชื่อทั้งหลายในอดีต
     กลุ่มผู้ต่อต้าน (Protestants) ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความวุ่นวาย ความปรองดองและสันติในคริสตจักรแต่อย่างใด เขาต้องการเพียงนำเอาคำสอนดั้งเดิมของอัครทูตและคริสตจักรยุคแรก กลับคืนมาสู่คริสตจักรอีกครั้งเท่านั้น ลูเธอร์ สวิงลี และคาลวิน ต่างยอมรับว่า คริสตจักรแท้ต้องสั่งสอนและดำเนินงานตามหลักการของพระคัมภีร์ นักปฏิรูปเหล่านี้ สอนและเขียนหนังสือ ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักปฏิรูปรุ่นต่อมา ทุกคนเชื่อว่า      พันธกิจของพวกตนคือการนำเอาคริสตจักรกลับไปสู่คำสอนที่บริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์
กลุ่มอนาแบ๊บติสต์ (Anabaptism) 
     ในช่วงศตวรรษที่ 16 กลุ่มอนาแบ๊บติสต์ไม่ยอมรับการบัพติศมาแก่ทารก จึงนำเอาพิธีบัพติศมา ของคริสตจักรตามพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่มาสอนและปฏิบัติ ผู้เชื่อเหล่านี้มีหลายกลุ่ม และถูกกดขี่จากคริสตจักรคาทอลิก และโปรเตสแตนท์ด้วยกัน เพราะกลุ่มอนาแบ็บติสต์ไม่เห็นด้วยกับการเอาศาสนาและรัฐมารวมเข้าด้วยกัน ขัดแย้งกับสิ่งที่พวกตนสอนในเรื่องสิทธิในการนับถือศาสนา ชักชวนให้คริสเตียนออกมาจากบาบิโลน แม้ยังรักษาวันอาทิตย์เป็นวันนมัสการ ขณะที่กลุ่มอนาแบ็บติสต์ในโมราเวียและซีเลเซีย รักษาวันสะบาโตวันที่เจ็ดของสัปดาห์
กลุ่มเพียวริตัน (Puritans) 
     กลุ่มคริสเตียนที่เน้นคำสอนในด้านการใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์สะอาดและชอบธรรม มีความคิดในการชำระให้คริสตจักรแองกลิกัน (คริสตจักรในอังกฤษ) คนกลุ่มนี้มีอยู่ในคริสตจักรต่างๆ ด้วย เช่น เพรสไบทีเรียน แบ๊บติสต์ ผู้นำคนหนึ่งชื่อ เอ็ดเวิร์ด  สเตนเนอร์ เห็นว่าควรรักษาวันสะบาโตวันที่เจ็ดของสัปดาห์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1650 มีการจัดตั้งกลุ่มคริสเตียนเซเว่นธ์เดย์แบ๊บติสต์ ขึ้นในอังกฤษ นอกจากนี้กลุ่มเพียวริตัน เน้นการศึกษาคำพยากรณ์ ตีความหมายพระธรรมดาเนียลและวิวรณ์ เพียวริตันเน้นคำสอนในเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติตามสิ่งที่เชื่อ ยึดมั่นในอุดมการณ์ปฏิรูปศาสนา และการออกมาจากคริสตจักรที่สอนไม่ถูกต้อง
กลุ่มเมโธดิสต์ (Methodist) 
     หลังจากการตื่นตัวของพวกเพียวริตันเริ่มมอดลง คริสตจักรในอังกฤษเริ่มอ่อนแอลง กลุ่มเมโธดิสต์จึงมีการฟื้นฟูข่าวประเสริฐ เน้นการรับประสบการณ์ความรอดจากการไถ่บาป กลุ่มเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นในคริสตจักรแองกลิกัน ในปี ค.ศ. 1738 โดยพี่น้องตระกูลเวสเลย์ ไม่ต้องการแยกตัวออกจากคริสตจักรแม่ เน้นวิธีการสอนแก่ฆราวาส เรียกร้องให้ยอมรับการเป็นคนชอบธรรมโดยความเชื่อ และปฏิรูปการใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์ตาม พระคัมภีร์ สัญลักษณ์สำคัญของคนกลุ่มปฏิรูปนี้คือ การมีประสบการณ์ความรอดโดยความเชื่อ
การปฏิรูปศาสนานำความจริงไปสู่ชาวโลก
     ผลจากการปฏิรูปศาสนาก่อให้เกิดการตื่นตัวในการประกาศข่าวประเสริฐตามมา การส่งมิชชันนารีออกไปประกาศทั่วโลก ส่งเสริมกิจกรรมช่วยเหลือสังคม กระแสตื่นตัวด้านประชาธิปไตย สร้างสังคมที่สุขสงบ และพัฒนาด้านอุตสาหกรรม
     กลุ่มผู้แสวงหาเสรีภาพในการนมัสการและนับถือศาสนาเช่น ฮิวโกนอต (Huguenot) อพยพไปหลายประเทศ บางส่วนอพยพไปทวีปอเมริกา  ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาจึงถือกำเนิดจากการแสวงหาเสรีภาพทางศาสนา และประเทศนี้มีส่วนสำคัญในการประกาศข่าวประเสริฐไปทั่วโลก คริสตจักรหลายแห่งก่อตั้ง เกิดขึ้น และเติบโตในแผ่นดินอเมริกา อันเป็นผลพวงของการปฏิรูปศาสนา
กลุ่มมิลเลอร์ และการฟื้นฟูความหวัง การเสด็จกลับมาครั้งที่สอง (Millerite) 
     วิลเลี่ยม  มิลเลอร์ (ค.ศ. 1728-1849) นับเป็นกลุ่มปฏิรูปยุคใหม่นอกแผ่นดินยุโรป เขาเป็นชาวนา เป็นนักเทศน์ฆราวาสจากคริสตจักรแบ๊บติสต์ในอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มประกาศการเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู ตามคำพยากรณ์ที่เขาศึกษาจากพระธรรมดาเนียล และคำนวนว่าพระองค์จะเสด็จมาในปี ค.ศ. 1843 และเชื่อว่าพระองค์จะเสด็จมาก่อนช่วงเวลาหนึ่งพันปี และชักชวนให้คนทั้งหลายเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรอรับการเสด็จมาของพระคริสต์
     เกิดการตื่นตัวของคริสเตียนในอเมริกาและส่วนอื่นของโลก กลุ่มแอ๊ดเวนตีสหรือผู้รอคอยการเสด็จมาของพระเยซู มาจากหลายนิกาย ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ เช่น จากเมโธดิสต์   เพรสไบทีเรียน คริสเตียนคอนเนคชั่น เอพิสโคเพิล เป็นต้น
ลำดับการปฏิรูปศาสนา นำความจริงแต่ละอย่างกลับคืนมา
     • กลุ่มวอลเดนส์ ยึดเอาพระคัมภีร์เป็นหลักในการสอนและประพฤติ
     • จอห์น ฮัส เชื่อฟังพระคัมภีร์เป็นสำคัญ
     • มาร์ติน ลูเธอร์ การรอดโดยพระคุณและความเชื่อ
     • จอห์น คาลวิน การเติบโตขึ้นในชีวิตคริสเตียน
     • อนาแบ๊บติสต์ การรับบัพติศมาที่ถูกต้องตามพระคัมภีร์
     • จอห์น เวสเลย์ การดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์
     • วิลเลี่ยม มิลเลอร์ การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซู
หัวใจของการปฏิรูปศาสนา ยึดเอาความจริงเหล่านี้เป็นสำคัญ
  • “โดยพระคัมภีร์เท่านั้น (Sola Scriptura)”
  • “โดยทางพระคริสต์เท่านั้น (Sola Christo)”
  • “โดยความเชื่อเท่านั้น (Sola Fide)”
  • “โดยพระคุณเท่านั้น (Sola Gratia)”
     สิ่งจำเป็นที่ยิ่งใหญ่และเร่งด่วนที่สุดของคริสต- จักรในยุคนี้และในอนาคตคือ การฟื้นฟูไปสู่ความดีงามแท้ นี่คือสิ่งแรกที่เราทั้งหลายต้องแสวงหา  การฟื้นฟูความจริงของพระคัมภีร์และการปฏิรูปคำสอนตามรูปแบบของคริสตจักรยุคอัครสาวก คือ เป้าหมายสูงสุดของการปฏิรูปศาสนาที่ไม่สามารถหยุดได้ และจะดำเนินต่อไปจนกว่าพระเยซูจะเสด็จกลับมารับเอาเจ้าสาวของพระองค์ วันนี้คริสตจักร ต้องรักษาตนเป็นพรหมจารีผู้มีปัญญา (มธ. 25:1 -13) ซื่อสัตย์ต่อเจ้าบ่าวและเตรียมตัวพร้อมสำหรับวันมงคลสมรสของพระองค์
     “พระ​องค์​เอง​จะ​ทรง​ฟื้นฟู​ข้า​พระ​องค์​ทั้ง​หลาย​มิ​ใช่​หรือ? เพื่อ​ประ​ชา​กร​ของ​พระ​องค์​จะ​ได้​ยินดี​ใน​พระ​องค์”
สดุดี 85:6
  • ศาสนาจารย์ ดร.สุรเชษฐ์ อินสม