B – หนังสือม้วนปาปิรุส (Papyrus Scroll)
วิธีการเขียนในสมัยแรกเริ่มนั้นเป็นการสลักลงบนแผ่นจารึกที่มักจะทำมาจากดินเหนียวหรือศิลา ในเวลาต่อมาก็พัฒนาขึ้นเป็นการเขียนด้วยน้ำหมึกลงบนหนังสัตว์หรือกระดาษที่ทำจากเยื่อของต้นกกที่เรียกว่าปาปิรุส (Papyrus) สิ่งที่ได้คือหนังสือม้วน (scroll) หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีในปัจจุบันคือ ม้วนหนังสือปาปิรุสของชาวอียิปต์โบราณที่มีอายุประมาณกว่า 4,000 ปีมาแล้ว และหนึ่งในสำเนาโบราณของพระคัมภีร์เดิมที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีในปัจจุบันคือ ม้วนคัมภีร์ทะเลตาย (Dead Sea Scrolls) ซึ่งมีอายุราวศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ. โดยถูกพบในถ้ำที่คุมราน (Qumran) ใกล้ทะเลตาย ประกอบด้วยพระธรรมต่างๆ ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมยกเว้นพระธรรมเอสเธอร์เพียงเล่มเดียว และพระธรรมแต่ละเล่มถูกม้วนใส่ไว้ในไหที่ปิดฝามิดชิดเพื่อเก็บรักษา
แม้การเขียนลงบนกระดาษปาปิรุสจะสะดวกรวดเร็วกว่าการสลักลงบนแผ่นจารึก แต่กระดาษปาปิรุสก็มีความคงทนและอายุการใช้งานที่น้อยกว่ามาก ทั้งยังอ่อนไหวต่อความชื้น อุณหภูมิ และการสัมผัสอีกด้วย จึงทำให้หนังสือหรือเอกสารสำคัญที่มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น พระคัมภีร์ จำเป็นต้องมีการคัดลอกใหม่อยู่เรื่อยๆ เมื่อสำเนาเดิมเริ่มเก่าและมีสภาพทรุดโทรมลง ทำให้อาลักษณ์ (Scribe) เป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญในโลกสมัยโบราณ
ในโลกสมัยโบราณ คนที่อ่านออกเขียนได้มักเป็นคนกลุ่มน้อย อาลักษณ์จึงมีบทบาทและอิทธิพลที่สำคัญในสังคม ในสังคมอิสราเอลยุคโบราณก็เช่นกัน อาลักษณ์มีหน้าที่คัดลอกพระคัมภีร์เพื่อสืบทอดและเผยแพร่พระวจนะของพระเจ้าอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากรุ่นสู่รุ่น ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่สมัยกลับจากการเป็นเชลยที่บาบิโลนเป็นต้นมา อาลักษณ์ที่คุ้นเคยกับเนื้อหาพระคัมภีร์เหล่านี้ก็ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมบัญญัติของชาวยิว หรือที่เรียกว่า “ธรรมาจารย์” นั่นเอง
ขณะเดียวกัน เมื่อวิชาชีพอาลักษณ์มีการเติบโตพัฒนาขึ้นก็เริ่มแตกแขนงออกเป็นหลายสำนัก ซึ่งต่างก็มีหลักเกณฑ์หรือประเพณีการคัดลอกที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้ต้นฉบับที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งก็เกิดจากความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจของอาลักษณ์เอง จนทำให้มีสำเนาโบราณของพระคัมภีร์ที่หลากหลาย
ความหลากหลายของสำเนาโบราณนี้เองได้กลายเป็นความท้าทายสำหรับการแปลพระคัมภีร์ในปัจจุบัน เพราะผู้แปลจะต้องพบกับข้อความหรือตัวอ่านที่ไม่ตรงกัน (Textual Variants) ของพระธรรมบางตอนในสำเนาโบราณคนละฉบับ และจะต้องตัดสินใจว่าจะยึดเอาข้อความหรือตัวอ่านในสำเนาฉบับใดเป็นหลักในการแปล ทำให้เกิดศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อการแปลพระคัมภีร์ คือ การวิจัยตัวบท (Textual criticism) อันเป็นการศึกษาวิเคราะห์และประเมินว่า เนื้อหาหรือตัวอ่านฉบับใดน่าจะตรงหรือใกล้เคียงกับเนื้อหาดั้งเดิมมากที่สุด
ในการนี้ สมาคมพระคริสตธรรมไทย (TBS) ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ทรงคุณวุฒิของสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล (UBS) ในการเป็นที่ปรึกษาและตรวจสอบรับรองคุณภาพการแปลพระคัมภีร์จากภาษาเดิม (ภาษาฮีบรูสำหรับพันธสัญญาเดิม และภาษากรีกสำหรับพันธสัญญาใหม่) เป็นภาษาไทย เพื่อที่พระวจนะของพระเจ้าจะได้รับการสืบทอดและเผยแพร่แก่คนไทยจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป
- ภาพประกอบจาก www.jesusway4you.com, www.dartmouth.edu, www.imj.org.il
“เพราะว่าสิ่งที่เขียนไว้ในสมัยก่อนนั้น ก็เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเรา
เพื่อเราจะได้มีความหวังโดยความทรหดอดทน และโดยการหนุนใจจากพระคัมภีร์ ” โรม 15:4 (ฉบับมาตรฐาน)