ฉบับที่ 4 เมษายน – มิถุนายน 2023

จากใจเลขาธิการ

สวัสดีครับ สมาชิกและเพื่อนของ TBS ทุกท่าน

ท่านรู้สึกเหมือนที่ผมรู้สึกไหมครับว่า นับวัน เวลาในชีวิตของเราดูเหมือนจะผ่านไปเร็วจริงๆ 24 ชั่วโมงในแต่ละวันเป็นปริมาณของเวลาที่น้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราต้องทำหรืออยากทำ

วิถีชีวิตมนุษย์ไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปเมื่อสังคมอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่สังคมเกษตรกรรมเมื่อเกือบสามศตวรรษที่แล้ว จากเดิมที่ตารางเวลาถูกกำหนดโดยฤดูกาลและธรรมชาติ กลับถูกแทนที่ด้วยการตอกบัตรในเวลาเดียวกันทุกคนตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ จากการทำงานที่บ้านหรือเรือกสวนไร่นาของตนโดยมีสมาชิกครอบครัวเป็นผู้ร่วมงาน กลายเป็นการต้องเดินทางข้ามเมืองสองเที่ยวต่อวันเพื่อมารวมตัวและทำงานกับคนแปลกหน้าในที่ทำงาน วิถีชีวิตเช่นนี้ฝึกให้เราเป็นคนที่ถูกตีกรอบตามที่ผู้อื่นวางไว้ สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติตามคู่มือ เป็นเหมือนการวิ่งไปบนสายพานแห่งงาน เมื่อเสร็จขั้นตอนหนึ่ง ก็จะคิดถึงขั้นตอนต่อไปโดยอัตโนมัติเป็นวัฏจักรที่วิ่งไม่รู้จบ

ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นราวกลางคริสตศตวรรษที่ 20 นั้น โลกก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ปริมาณข้อมูลที่มีมากอยู่แล้วก็ยิ่งทวีขึ้นด้วยอัตราเร่งสูง การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้เราถูกกระหน่ำด้วยข้อมูลตลอดเวลา มากเกินกว่าที่จะสามารถย่อยได้ทัน บางคนเลือกที่จะซึมซับข้อมูลเหล่านั้นโดยไม่ผ่านกระบวนการใดๆ ในขณะที่บางคนเลือกที่จะปิดประตูไม่รับข้อมูลที่ถาโถมเข้ามา ในสภาวะเช่นนี้เอง ชีวิตของเราวิ่งในอัตราเร่งที่สูงมากจนแทบไม่มีเวลาพัก หรือแม้จะมีบ้างก็จะเป็นการพักเพื่อหายเหนื่อยและทำงานต่อ แทนที่จะเป็นการพักเพื่อหยุดคิดและใคร่ครวญ

หากการย่อยเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องตามมาหลังการทานอาหาร การใคร่ครวญก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นหลังการรับข้อมูล ไม่ว่าจะผ่านการอ่าน การฟัง การชม การสนทนา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การใคร่ครวญทำให้เราเกิดความเข้าใจและความกระจ่าง การใคร่ครวญเปิดโอกาสให้เราแยกแยะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกจากข้อมูลที่เป็นโทษ และข้อมูลที่เป็นจริงออกจากข้อมูลที่เป็นเท็จ ที่สำคัญ การใคร่ครวญทำให้เราทราบความเป็นไปในชีวิต จิตใจ ความคิดภายในของเรา ทำให้เรารู้จักตนเอง อันจะนำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาชีวิต การใคร่ครวญยังนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในชีวิต แม้ตารางเวลาของท่านจะแน่นเพียงใด อย่าลืมจัดเวลาเพื่อการคิดใคร่ครวญนะครับ

  • ประกิจ ตรีทศายุธ

คุณรู้หรือไม่

สำเนาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอะไร

แม้พระคัมภีร์ที่เราใช้ในปัจจุบันจะดูเหมือนเป็นหนังสือเล่มเดียว แท้จริงแล้ว พระคัมภีร์ประกอบไปด้วยพระธรรมถึง 66 เล่มที่ถูกเขียนขึ้นโดยคนหลายคนในหลากหลายสถานที่ โดยมีกรอบเวลาในการบันทึกจากเล่มแรกถึงเล่มสุดท้ายนานถึงประมาณ 1,700 ปี บริบทที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาส่งผลให้มีการใช้ภาษาในการบันทึกที่แตกต่างกัน

จากบรรดาสำเนาโบราณของพระคัมภีร์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เราทราบว่า ส่วนใหญ่ของพระธรรมต่างๆ ในพันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาฮีบรู และส่วนน้อยเป็นภาษาอาราเมค ส่วนพันธสัญญาใหม่นั้นถูกเขียนขึ้นเป็นภาษากรีก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ภาษาฮีบรู ก่อร่างสร้างอัตลักษณ์ ภาษาฮีบรูเป็นภาษาของชาวอิสราเอลตั้งแต่โบราณ จัดอยู่ในตระกูลภาษาเซมิติกซึ่งใช้กันในดินแดนแถบตะวันออกกลางและบางส่วนของแอฟริกา เนื่องจากพันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นโดยคนอิสราเอลที่ใช้ภาษาฮีบรูเป็นภาษาแม่เพื่อให้คนอิสราเอลอ่าน ต้นฉบับพันธสัญญาเดิมจึงถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาฮีบรู นอกจากนี้ ช่วงศตวรรษที่ 12-10 ก่อน ค.ศ. คือยุคสร้างชาติของอิสราเอล ชาวอิสราเอลสิบสองเผ่าจำเป็นต้องรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นภายใต้อัตลักษณ์เดียวกัน ซึ่งแสดงออกผ่านทางการเขียนพระคัมภีร์ด้วย

ภาษาอาราเมค ซึมซับความหลากหลาย ภาษาอาราเมคจัดอยู่ในตระกูลภาษาเซมิติกเช่นเดียวกัน จึงเรียกได้ว่า เป็นภาษาพี่ภาษาน้องของภาษาฮีบรู แต่เดิมภาษาอาราเมคเป็นภาษาของชาวอารัม-ดามัสกัส หรือชาวอาณาจักรซีเรียโบราณ ซึ่งมีอาณาบริเวณครอบคลุมถึงแถบเมโสโปเตเมียในราวศตวรรษที่ 10 ก่อน ค.ศ. ภาษาอาราเมคจึงกลายเป็นภาษากลางของภูมิภาคนี้รวมถึงในสมัยที่อาณาจักรอัสซีเรีย บาบิโลน และเปอร์เซียได้เรืองอำนาจ ด้วยเหตุนี้ ชาวยูดาห์ในช่วงเวลานี้จึงรู้ภาษาอาราเมคด้วย เพียงแต่จำกัดในแวดวงชนชั้นสูง (2 พกษ.18:26; อสย.36:11) จนในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. เมื่อชาวยูดาห์ตกเป็นเชลยที่บาบิโลน พวกเขาจึงได้หันมาใช้ภาษาอาราเมคเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ พันธสัญญาเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เขียนขึ้นในช่วงของการเป็นเชลย เช่น ดนล.2:4-7:28 ฯลฯ จึงถูกบันทึกเป็นภาษาอาราเมค สิ่งนี้บ่งบอกว่าชาวยิวในช่วงเวลานี้มีการซึมซับความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ต่อมาตัวอักษรอาราเมคยังถูกใช้แทนที่อักษรฮีบรูโบราณในส่วนของพันธสัญญาเดิมที่เขียนเป็นภาษาฮีบรูด้วย

ภาษากรีก กระจายสู่ทุกชนชาติ ภาษากรีกจัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน เดิมทีเป็นภาษาของกลุ่มชนในคาบสมุทรบอลข่านตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ก่อน ค.ศ. ต่อมาในศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. อเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งเป็นชาวกรีกได้เดินทางไปพิชิตดินแดนต่างๆ ทางตะวันออกไกลไปจนถึงดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปัจจุบัน และได้นำวัฒนธรรมกรีกรวมทั้งภาษากรีกไปเผยแพร่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย ภาษากรีกจึงกลายเป็นภาษากลางของโลกโบราณในแถบนั้นเป็นต้นมาจนถึงสมัยที่อาณาจักรโรมขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนในเวลาต่อมา นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแปลพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเป็นภาษากรีก หรือที่เรียกว่า เซปทัวจินต์ (LXX) ด้วยเหตุนี้เอง แม้ผู้เขียนเกือบทั้งหมดของพันธสัญญาใหม่เป็นคนยิว (หรืออิสราเอล) ภาษาที่ใช้กลับเป็นภาษากรีก อีกเหตุผลหนึ่งคือ พันธสัญญาใหม่ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้คนยิวเท่านั้นอ่าน แต่ยังเขียนให้คนต่างชาติที่ใช้ภาษากรีกเป็นหลักอ่านด้วย

ดังนั้น การเขียนพระคัมภีร์จึงมีพัฒนาการจากการใช้ภาษาท้องถิ่น (ฮีบรู) ไปสู่ภาษากลางที่แพร่หลาย (อาราเมคและกรีก) โดยมีวัตถุประสงค์ให้พระคัมภีร์เข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้างและสอดคล้องกับบริบทยุคสมัย ถึงตรงนี้บางท่านอาจคิดว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงต้องมีการแปลหรือแก้ไขคำแปลพระคัมภีร์อีก ในเมื่อปัจจุบันก็มีพระคัมภีร์ในภาษากลางของทุกวันนี้แล้ว เช่น ภาษาอังกฤษ ฯลฯ

คำตอบของคำถามนี้ คือ แม้เราจะมีพระคัมภีร์ในภาษากลางที่เป็น “ภาษาที่เข้าใจ” (Head language) แต่การได้อ่านพระคัมภีร์ในภาษาของตนเองซึ่งเป็น “ภาษาที่เข้าถึงใจ” (Heart language) จะมีพลังและฝังลึกในชีวิตของผู้อ่านมากยิ่งกว่า โดย TBS มีความยินดีที่ได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านในพันธกิจนี้ และเราเต็มใจที่จะทำต่อไปในอนาคต ตามความมุ่งหมายของเราที่ว่า “เพื่อให้คนไทยทุกคนมีพระคัมภีร์ใช้ และรู้จักใช้พระคัมภีร์”

  • ภาพจาก www.wikipedia.org

TBS TALK


สนุกกับพระคัมภีร์

คำถามร่วมสนุก

1. เมื่อซามูเอลปฏิบัติงานในเต็นท์นัดพบตอนวัยเยาว์ ซามูเอลคาดเอวด้วยอะไร ?
2. ซาอูลเสด็จไปหาใครที่บ้านเอนโดร์ ?
3. ดาวิดทรงให้พวกข้าราชการของพระองค์ที่ถูกฮานูนทำการเหยียดหยาม พักอยู่ที่เมืองเยรีโคนานเท่าใด ?
4. ปัญญาจารย์สอนว่า “เวลาเช้าเจ้าจงหว่านพืชของเจ้า และพอเวลาเย็นก็อย่าหดมือเจ้าเลย…” เพราะอะไร ?
5. พระธรรมสุภาษิตสอนว่า “จงซื้อ” อะไรบ้าง ?


แนะนำสินค้า

 

 


พันธกิจ TBS

เป็นระยะเวลากว่า 133 ปี ที่ TBS ได้มอบประสบการณ์ในการอ่านพระคัมภีร์ให้กับคนไทย ผ่านการแปลพระคัมภีร์จากภาษาเดิมให้เป็นภาษาที่เราเข้าใจ นับจนวันนี้ TBS ได้พิมพ์พระคัมภีร์ไปมากกว่า 26 ล้านเล่ม ใน 4 สำนวนแปลที่เป็นภาษาไทย ได้แก่ พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับ 1940, พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับ 1971, พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับประชานิยม 1984 และ พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน 2011 รวมถึงภาษาถิ่นอีก 7 ภาษา และพระคัมภีร์ภาษามือฉบับออนไลน์… เพราะแก่นแท้และแรงบันดาลใจ คือข่าวประเสริฐของพระเจ้าที่ต้องเดินทางไปถึงหัวใจของทุกคนในแผ่นดินไทย

ขอเชิญร่วมสนับสนุนพันธกิจกับเรา

โดยการถวายทรัพย์ผ่านบัญชี “สมาคมพระคริสตธรรมไทย” ธนาคารกรุงเทพ สาขาอินทามระ เลขที่บัญชี 138-0-86415-5
หากท่านต้องการใบเสร็จรับเงิน กรุณาส่ง “หลักฐานใบโอนเงินสนับสนุนพันธกิจสมาคมฯ” มาทาง โทรสาร 0-2616-0517, อีเมล tbs@thaibible.or.th หรือ ไลน์ @thai.bible

พี่น้องทั้งหลาย เราอยากให้ท่านรู้ถึงพระคุณของพระเจ้าที่พระองค์ประทานแก่คริสตจักรต่างๆ ในแคว้นมาซิโดเนีย เพราะในขณะที่พวกเขาเผชิญการทดสอบมากมายจากความยากลำบากนั้น ความยินดีที่เต็มล้นและความยากจนอย่างที่สุดของพวกเขาได้ล้นออกมาเป็นใจกว้างขวางยิ่ง เพราะข้าพเจ้าเป็นพยานได้ว่าพวกเขาถวายตามความสามารถ ที่จริงก็เกิน ความสามารถ และทำด้วยความสมัครใจ
2 โครินธ์ 8:1-3 (ฉบับมาตรฐาน)