คุณรู้หรือไม่
เกิดอะไรขึ้นบ้างในยุครอยต่อระหว่าง
พันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่
ช่วงเวลาระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่นั้นยาวนานราว 400 ปี โดยนับจากพันธกิจ ของมาลาคีสิ้นสุดลงจนถึงเหตุการณ์ในพระกิตติคุณเริ่มต้นขึ้น ยุคนี้ยังถูกเรียกว่า “ยุคเงียบ” ด้วยเหตุที่พระเจ้าไม่ได้ส่งผู้เผยพระวจนะมาสื่อสารกับชนชาติของพระองค์ ช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้น แต่ในที่นี้จะขอกล่าวโดยสังเขป
สมัยอาณาจักรเปอร์เซีย (ประมาณปี 538-331 ก่อน ค.ศ.) อาณาจักรเปอร์เซียรุ่งเรืองขึ้นและมีชัยเหนืออาณาจักรบาบิโลน ชาวยิวที่ถูกนำไปเป็นเชลยในบาบิโลนต่อมาได้รับอนุญาตจากไซรัสกษัตริย์ชาวเปอร์เซียให้เดินทางกลับมายังปาเลสไตน์เป็นสามระลอก นำโดยเศรุบบาเบล เอสรา และเนหะมีย์ พวกเขาได้ฟื้นฟูชนชาติของพระเจ้าขึ้นใหม่โดยมีพระวิหารหลังที่สองที่พวกเขาสร้างเป็นศูนย์กลาง (2 พศด.36:22-23; อสร.1:1-4) ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ยังคงดำรง รักษากิจกรรมฝ่ายจิตวิญญาณอย่างอื่นที่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงที่เป็นเชลย อาทิ การประชุมในธรรมศาลา (กจ.15:21) และการตีความหมายกับการสอนพระคัมภีร์โดยพวกอาลักษณ์และธรรมาจารย์ในยุคนี้ ชนชาติยิวสามารถปกครองตนเองได้โดยมีปุโรหิตเป็นผู้นำที่มีอำนาจปกครองทั้งทางด้านศาสนาและการเมือง โดยขึ้นตรงต่อผู้สำเร็จราชการแห่งเปอร์เซีย
สมัยอาณาจักรกรีก (ประมาณปี 331-164 ก่อน ค.ศ.) อาณาจักรกรีกของอเล็กซานเดอร์มหาราชได้พิชิตอาณาจักรเปอร์เซียและขยายบริเวณไปไกลถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ ในขณะเดียวกันก็เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมกรีกไปด้วย จนราวปี 323 ก่อน ค.ศ. อเล็กซานเดอร์ก็สิ้นพระชนม์ บรรดาแม่ทัพของพระองค์ชิงอำนาจกันทำให้อาณาจักรกรีกถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน อาณาจักรที่สำคัญสองอาณาจักรปกครองโดยราชวงศ์ปโตเลมี (มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์) และราชวงศ์เซลูซิด (มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอันทิโอคในซีเรีย) ซึ่งผลัดกันครอบครองแคว้นยูเดีย โดยทีแรกราชวงศ์ปโตเลมีปกครองชาวยิวอย่างเป็นมิตรในช่วง 320-198 ก่อน ค.ศ. การแปลพระคัมภีร์ฮีบรูเป็นภาษากรีก (คือ เซ็ปทัวจินต์) ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ต่อมา ราชวงศ์เซลูซิดก็ปกครองพวกเขาอย่างทารุณในช่วง 198-164 ก่อน ค.ศ. โดยประกาศห้ามคนนับถือศาสนายิวและกดขี่บังคับให้ชาวยิวรับธรรมเนียมกรีก ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องรับโทษถึงตาย พระคัมภีร์จำนวนมากถูกทำลาย มีการบังคับให้ถวายเครื่องบูชาแก่พระต่างชาติ รูปปั้นของเทพเจ้าซีอุสถูกนำมาตั้งไว้ในพระวิหาร สิ่งนี้ทำให้ชาวยิวไม่พอใจและก่อกบฏ จนเกิดผู้นำคนสำคัญในเวลาต่อมาคือ ยูดาสมัคคาบีส บุตรมัทธาธีอัสปุโรหิต
ราชวงศ์ฮัสโมเนียน (ประมาณปี 164-63 ก่อน ค.ศ.) ยุคนี้อาจจะเรียกว่า “ยุคของวีรชนชาวยิว” ก็ได้ เพราะเป็นยุคที่คนยิวได้ลุกขึ้นต่อสู้กับซีเรียภายใต้การนำของพวกบุตรของมัทธาธีอัสที่สู้รบอย่างมีชั้นเชิงจนกระทั่งมีชัยชนะเหนือพวกซีเรียได้อย่างแท้จริง ซีโมนบุตรชายอีกคนหนึ่งของ มัทธาธีอัสได้เป็นผู้ปกครองคนแรกของรัฐยิวอิสระโดยเป็นมหาปุโรหิตด้วยในเวลาเดียวกัน เป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ฮัสโมเนียนที่ปกครองในกรุงเยรูซาเล็ม อย่างไรก็ตาม กษัตริย์แต่ละองค์ในช่วงนี้ก็ปกครองได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะเกิดการแก่งแย่งชิงบัลลังก์กันครั้งแล้วครั้งเล่า สถานการณ์ถึงขั้นวิกฤติเมื่อเฮอร์คานัสที่ 2 พยายามชิงบัลลังก์จากอริสโตบูลัสที่ 2 โดยทั้งคู่พยายามโน้มน้าวชาวโรมัน (ซึ่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนมีชัยเหนืออาณาจักรกรีก) ให้สนับสนุนตน ในที่สุดเมื่อปี 63 ก่อน ค.ศ. นายพลปอมเปย์แห่งโรมก็ยาตราเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม จับกุมอริสโตบูลัสและแต่งตั้งเฮอร์คานัสเป็นมหาปุโรหิต เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ฮัสโมเนียน แล้วแคว้นยูเดียก็ตกอยู่ใต้อำนาจของโรม
สมัยอาณาจักรโรม (ประมาณปี 63 ก่อน ค.ศ.-ค.ศ. 70) แม้อาณาจักรโรมจะรุ่งเรืองขึ้น อิทธิพลกรีกก็ยังคงฝังลึกอยู่ ด้วยเหตุนี้ พันธสัญญาใหม่จึงเขียนเป็นภาษากรีกซึ่งเป็นภาษากลางในสมัยนั้น ดินแดนปาเลสไตน์ในช่วงนี้ถูกปกครองโดยราชวงศ์ของเฮโรดมหาราชซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการโรม ต่อมา เมื่อทางการโรมเห็นว่าอารเคลาอัสซึ่งเป็นบุตรชายของเฮโรดมหาราช (มธ.2:22) ปกครองได้ไม่ดีนัก จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการจากโรมมาปกครองแทน เช่น ปอนทิอัสปีลาต ซึ่งปกครองในช่วง ค.ศ. 26-36 (ลก.3:1) พอถึงปี ค.ศ. 66 พวกยิวชาตินิยมก็ลุกฮือขึ้นกบฏต่อโรม แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพโรมที่ได้บุกทำลายกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารในปี ค.ศ. 70
จะเห็นได้ว่า ช่วงเวลาระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่นั้นเป็นภูมิหลังที่สำคัญของพันธสัญญาใหม่ การศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงนี้จะช่วยให้เราเข้าใจพันธสัญญาใหม่ได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
- บทความ อ.วิรวิชญ์ รัศมิทัต
- ภาพประกอบอาณาจักรกรีกของอเล็กซานเดอร์มหาราชจาก www.wikipedia.org