พระคัมภีร์ ศจ.ย่วญ เตียงหยก 1/20

พระคัมภีร์ ศจ.ย่วญ เตียงหยก

พระคัมภีร์ ของ ศจ.ย่วญ เตียงหยก

การค้นพบพระคัมภีร์ของ ศจ.ย่วญ เตียงหยก เป็นเรื่องที่อัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่ง  ในปี 2019 อ.พิษณุ อรรฆภิญญ์ นักประวัติศาสตร์โปรเตสแตนต์ ทราบว่ามีพระคัมภีร์โบราณเล่มนี้ ซึ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์และรู้สึกเสียดายมากหากเล่มนี้สูญหายไป จึงได้พยายามค้นหาพระคัมภีร์เล่มดังกล่าวอีกครั้ง คาดว่าจะอยู่กับ อ.รดี (แดง) สิริธารารักษ์  เหลนของ ศจ.ย่วญ เตียงหยก จึงได้ติดต่อสอบถาม ศาสนาจารย์ สุรพล ภูประพันธ์ (สามีของ อ.รดี) ได้รับคำตอบว่าพระคัมภีร์เล่มดังกล่าวยังอยู่ และได้นำไปมอบให้กับ ศาสนาจารย์ ดร.เสรี หล่อกัณภัย ที่สมาคมพระคริสตธรรมไทย ถนนวิภาวดีรังสิต ไปแล้วตั้งแต่ปี 1999  ซึ่งสมาคมฯ ได้เก็บรักษาไว้อย่างดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 20 ปี (1999-2019)

  พระคัมภีร์โบราณเล่มนี้ ผลิตในปี 1905 ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์ศิริเจริญ บางกอก (ไม่แน่ใจว่าเป็นโรงพิมพ์เพรสไบทีเรียน สำเหร่) ตีพิมพ์ครั้งที่ 7 โดย สมาคมพระคริสตธรรมไทย ในสมัยที่ ศจ.จอห์น คาริงตัน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนแรก(1889 – 13 ต.ค.1912)  จึงเชื่อว่านี่คือพระคัมภีร์ภาษาสยามเล่มแรกที่พิมพ์ในนามสมาคมพระคริสตธรรมไทย ทำให้ได้เห็นถึงวิวัฒนาการภาษา คำศัพท์ รูปแบบตัวอักษร การพิมพ์ จำนวนครั้งที่ตีพิมพ์ ปีที่พิมพ์ คุณภาพกระดาษ ขนาด เป็นต้น โดยมีเนื้อหาของพระธรรม มัดธาย  มาระโก  ลูกา  กิจการ  โรม  โครินโธ 1-2   ฆะลาเตีย  เอเฟโซ  ฟีลิปอย  โกโลซาย  เธซะโลนิเก 1-2  ติโมเธียว 1-2   ติโต  เฮบราย  ยาโกโบ  เปโตร 1-2  โยฮัน 1-3  อะนาคต  ซึ่งเป็นเนื้อหาของพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่ยังไม่ครบทุกเล่ม

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจ อีกอย่างคือ ได้พบลายมือของ ศจ.ย่วญ เตียงหยก ที่ได้เขียนบันทึกเรื่องราวของประวัติศาสตร์โปรเตสแตนต์ในสยามไว้ เช่น

  • 1828  Karl Gutzlaff  M.D. Netherland Missionary + Rev Jacob Tomlin หมายถึง ปี 1828 ศาสนาจารย์นายแพทย์ คาร์ล เฟรดเดอริค ออกัสตัส กุ๊ตสลาฟ คณะเนเธอร์แลนด์มิชชันนารี  และ ศาสนาจารย์ จาคอบ ทอมลิน คณะลอนดอนมิชชันนารีโซไซตี้  เป็นมิชชันนารีโปรเตสแตนต์คู่แรกเข้ามาในสยาม
  • 1829 Capt. Coffin of the American Trading vessel. เอาลูกแฝดที่แม่กลอง  หมายถึง แฝดสยามอิน-จัน ชาวสยามเชื้อสายจีนจากแม่กลอง เดินทางไปอเมริกา โดย กัปตันคอฟฟิน เรือขนส่งสินค้าที่ชื่อว่า อเมริกัน เทรดดิ้ง เวอเซล
  • 1846คณะศีลจุ่มยกไปเมืองจีน แล คณะจีนที่ไทยก็เสื่อม / แล้วคณะ Presbyterian ก็เข้าสรวมที่โดย หมอเฮ้าซ หมอ Mattoon รับต่อไป  หมายถึง  ในปี 1846 มิชชันนารีใน คณะ A.B.C.F.M.เริ่มต้นย้ายจากสยามไปทำพันธกิจไปประเทศจีนทีละคน ดังนั้น บ้านพักมิชชันนารี คณะ A.B.C.F.M.แห่งนี้เหลือแต่มิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนมิชชั่นที่อาศัยอยู่ด้วยกันและต่อมา ศาสนาจารย์นายแพทย์ ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (หมอเหา) และ ศาสนาจารย์ สตีเฟน  แมตตูน (หมอมะตูม)และภรรยา มาอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้
  • วันที่ 20 March 1847 ได้เหยียบแผ่นดินสยาม มี Mr.Caswell + Mr. Hemmingway ได้รับรอง  หมายถึง 20 มีนาคม 1847 คือ ศาสนาจารย์นายแพทย์ ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (หมอเหา) และ ศาสนาจารย์ สตีเฟน  แมตตูน (หมอมะตูม)และภรรยา แห่งคณะเพรสไบทีเรียนมิชชั่นเดินทางมาถึงสยามเป็นครั้งแรก โดยมี ศาสนาจารย์ เจสซี่ คาสแวลล์ และ ศาสนาจารย์ อาซา เฮเมนเวย์ มิชชันนารีแห่งคณะ A.B.C.F.M. ที่ยังคงเหลืออยู่ เป็นผู้ให้การรับรองในการเข้ามาสยาม
  • 1849  Rev. Stephen Bushเข้ามา แล ตั้งเชิ์ช Mattoon เปน Pastor & R House เปนเอ็ลเตอ  ปีนี้มีโรคอหิวาต์ จนตายมากราว 15000 คน   หมายความว่า  เมื่อศาสนาจารย์สตีเฟน บุช และภรรยา เข้ามาในสยามแล้ว ในวันที่ 31 สิงหาคม 1849 มิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนมิชชั่นทั้ง 5 ท่าน ประกอบด้วย 1.ศาสนาจารย์ สตีเฟน  แมตตูน 2. และภรรยา  3.ศาสนาจารย์นายแพทย์ ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (หมอเหา)  4.ศาสนาจารย์สตีเฟน บุช 5.และภรรยา  ร่วมกันสถาปนาโรงสวดคริสเตียนแห่งแรกของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ชื่อว่า โรงสวดคริสเตียนที่ 1 บางกอก ที่บ้านเดิมของคณะ A.B.C.F.M.(คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ในปัจจุบัน) โดยแต่งตั้ง ศาสนาจารย์ สตีเฟน  แมตตูน (หมอมะตูม)เป็นศิษยาภิบาลคนแรก   และ ศาสนาจารย์นายแพทย์ ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (หมอเหา) เป็นผู้ปกครองคนแรกของโรงสวดคริสเตียน ซึ่งในปีนี้ยังเป็นปีที่โรคอหิวาห์ระบาดหนัก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 15,000 คน (ปีระกาห่าลง)
  • 1853รับครูแนเปนลูกเลี้ยงของหมอ  หมายถึง ปี1853 ศาสนาจารย์นายแพทย์ ซามูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (หมอเหา) ได้รับ ผป.แน ผู้ที่เป็นต้นสาแหรกประทีปะเสน) เป็นผู้ปกครองคนสยามคนแรกของโรงสวดคริสเตียนที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม
  • 1855โบถอังกฤษได้สร้างขึ้น  หมายถึง 1855 เริ่มสร้างอาคารคริสตจักรไครสต์เชิร์ช ณ อาคารแห่งแรกที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ภายในอู่ต่อเรือบางกอกดอก (บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ในปัจจุบัน)
  • 1856ฉันเข้าโรงเรียน  หมายถึง  ศาสนาจารย์ ย่วญ เตียงหยก สมัครเข้าเป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนของมิชชั่นเด็กชาย ที่กุฎีจีน เลขประจำตัว 29 (โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน)
  • 1857 ยกมาสำเหร่  หมายถึง โรงสวดคริสเตียนที่ 1 บางกอก ย้ายสถานที่ตั้งมาที่ตำบลสำเหร่ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงสวดคริสเตียนที่ 1 สำเหร่ (คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ในปัจจุบัน)
  • (วันอาทิตย์ 2 มกราคม ค.ศ. 1910 วันนี้เปนวันปลายสุดของการนมัสการพระเจ้า ที่ในวิหารเก่าของจำพวกเชิ๊ชสำเหร่นี้ )  หมายถึง วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 1910 เป็นการนมัสการวันสุดท้ายในพระวิหารหลังแรกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1860 ใช้เป็นพระวิหารสำหรับนมัสการมาแล้ว 50ปี (1860 – 2 ม.ค.1910)ได้เกิดการชำรุดทรุดโทรม จึงได้เกิดโครงการสร้างพระวิหารหลังใหม่ทรงเก่าบนที่ตั้งเดิม
  • วันอาทิตย์ที่ 7 Jan 1917 ครูซีโมได้เทษนาที่เชิชสำเหร่ ว่าด้วยซื้อความจริงแล้วอย่างขาย  หมายถึง พ่อครูสีโหม้ ผู้เป็นต้นสาแหรกวิชัย(บิดา อ.เจริญ วิชัย) ศิษยาภิบาลคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ เดินทางจากเชียงใหม่มาเทศนาถึงบางกอกที่ คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ในวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม 1917

เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 170 ปี การจัดตั้งคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ (1849-2019) ในวันเสาร์ที่ 31 ส.ค. 2019  คริสตจักรแห่งแรกของคณะเพรสไบทีเรียนมิชชั่นในประเทศสยาม  อ.พิษณุ อรรฆภิญญ์ จึงได้ทำสำเนาภาพลายมือ ศาสนาจารย์ ย่วญ เตียงหยก ที่บันทึกอยู่ในพระคัมภีร์โบราณเล่มนี้กลับมายังสถานที่ต้นกำเนิดอีกครั้งดังที่เคยอยู่ที่นี่แต่กาลก่อน โดยมีศาสนาจารย์ประยูร คาระวานนท์ ศิษยาภิบาล  ผป.วิทยา ชูวิทย์ เป็นผู้รับมอบ และ ผป.เพ็ญจันทร์ วัฒนมงคล ประธานจัดงานเฉลิมฉลองเป็นผู้ประสานงาน  (ซึ่งในคืนนั้นเอง ผป.วิทยา ชูวิทย์ สวมเสื้อสีขาวแขนยาว ผู้นำคณะผู้ปกครองคริสตจักร เดินขบวนเข้าพระวิหารเริ่มต้นเปิดพิธีเฉลิมฉลอง 170ปี การจัดตั้งคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ปกครองอย่างดีเยี่ยมเป็นวาระสุดท้าย เมื่อการจัดงานเสร็จสิ้นเรียบร้อยในคืนนั้นเองท่านได้นอนหลับพักผ่อนและจากไปอยู่กับพระเจ้า

สรรเสริญพระเจ้าทรงสำแดงให้ อ.พิษณุ อรรฆภิญญ์ ได้สืบจนพบพระคัมภีร์โบราณเล่มนี้  สมาคมพระคริสตธรรมไทย ในฐานะผู้แปลและผู้ผลิตพระคัมภีร์ไทย  ถือว่าพระคัมภีร์เล่มของ ศจ.ย่วญ เตียงหยก มีคุณค่าอย่างยิ่ง ขอพระเจ้าอวยพระพร