สื่อสะกดใจ 3/12

สื่อสะกดใจ

ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินไปห้างสรรพสินค้า ผมมีอันจะต้องถูกสะกดให้ไปยืนอยู่หน้าร้านขายสมาร์ทโฟน และแท็ปแล็ต ยี่ห้อดังที่คุณผู้อ่านทุกก็น่าจะรู้ว่ายี่ห้ออะไร จนผมอดสงสัยตัวเองไม่ได้ว่าอะไรเป็นพลังผลักดันให้ผมต้องทำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ผมไม่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พวกนี้ในเวลานี้เลย นี่ถ้าเป็นคนสมัยโบราณผมคงนึกไปว่าผมถูกพวกทรงเจ้า เข้าผี เล่นงานเข้าให้แล้ว

อำนาจลึกลับที่ล่อชวนให้คนตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร จะบริโภคอะไร จะดูโทรทัศน์ช่องอะไร แท้ที่จริงแล้วไมใช่มนต์ดำอะไรเลย แต่เป็นพลังอำนาจจากสื่อ (Media) นั่นเอง ย้อนไปหลายปีที่วงการโฆษณายังไม่เฟื่องฟูเท่าในปัจจุบัน มีการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศระดับชาติในประเทศอเมริกา ผลการแข่งขันเป็นอย่างไรมีคนจำได้ไม่มากนัก แต่ปรากฎการณ์ระหว่างที่กีฬาพักครึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะกลายเป็นการจราจลย่อยๆ ไปเลย เพราะกองเชียร์กว่าห้าหม่นื คนพากันต่อแถวยาวเหยียดเพื่อแย่งซื้อเครื่องดื่มโคล่ายี่ห้อหนึ่งจนขายไม่ทันใจคนที่มารอคิว จึงเกือบกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต หลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้วงการโฆษณา และจิตวิทยารู้จักคำว่า subliminal tape มากขึ้น ภาพโคล่ายี่ห้อดังกล่าวถูกฉายขึ้นภาพสกอร์บอร์ดภาพเคลื่อนไหวโดยแทรกภาพโฆษณาโคล่าไว้ใน 1 ส่วน 25 วินาที พูดง่ายๆ ก็คือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเห็นภาพอะไร แต่จิตใต้สำนึกกลับประทับภาพนั้นไว้จนเกิดเป็นความรู้สึกอยากจะดื่มขึ้นมา

นี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมสื่อต้องมีการจัดเรทให้เหมาะสมกับประเภทของผู้บริโภคสื่อ เพราะข้อมูลทุกอย่างจากสื่อเป็นข้อมูลที่มีพลังอำนาจมาก คนที่เป็นอาจารย์หรือคุณครูถ้าไม่เข้าใจเรื่องอำนาจของสื่อ แม้เขาจะใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงในการถ่ายทอดเรื่องๆ หนึ่ง แต่กลับมีนักเรียนนักศึกษาไม่ถึงครึ่งที่จดจำข้อมูลได้ และที่จำได้ก็เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่สื่ออย่างโฆษณาโทรทัศน์ใช้เวลาเพียงประมาณ 30-45 วินาที ในการทำให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจทำอะไรบางอย่างในชีวิตได้ สื่อจึงเป็นอุปกรณ์ที่ทรงพลัง ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ใช้จะใช้ในทางที่เป็นประโยชน์หรือในทางที่เป็นโทษ

ในอดีตสักยี่สิบถึงสามสิบปีที่ผ่านมามีช่องทางที่สื่อเข้าไปหาผู้บริโภคค่อนข้างจำกัด โดยมากผ่านรายการวิทยุ หรือโทรทัศน์ จนกระทั่งเมื่อมีผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นบอร์ดโฆษณาขนาดใหญ่ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองไทย ผมจำได้ว่าในสมัยที่ผมยังเด็กมีข่าวหน้า 1 ที่ลงติดต่อกันหลายวัน เรื่องรถชนกันหลายคันบนทางด่วน และเกิดขึ้นซ้ำซากหลายครั้ง ผลจากการสืบสวนพบว่าสาเหตุมาจากภาพโฆษณาบนทางด่วนขนาดใหญ่ เป็นรูปคุณอลิสา (ยู่ยี่) ในชุดสาวเขย่าเครื่องดื่มกาแฟยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมมาก ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าในที่สุดป้ายโฆษณานั้นโดนปลดลงมาหรือเปล่า แต่ทราบอย่างหนึ่งว่ากาแฟยี่ห้อนั้นขายดีมากจริงๆ ในเวลานั้น

ในพระธรรมสุภาษิต 4:23 กล่าวว่า “จงระแวดระวังใจของเจ้ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะทุกสิ่งที่เจ้าทำออกมาจากใจ” เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทัศนคติ ท่าที และรสนิยมต่างๆ เปรียบเสมือนแว่นตาสีแดง แว่นตาสีเหลือง หรือแว่นตาสีฟ้า ที่ไม่ว่าเราสวมเมื่อไรเราก็ต้องเห็นทุกอย่างเป็น สีแดง สีเหลือง และสีฟ้า ดังนั้นหากเราไม่ต้องการให้ความคิดและความเชื่อของเราเต็มไปด้วยอคติ เราก็ไม่ควรใช่แว่นตาอันเดียวในการมอง แต่ต้องเปิดใจสวมแว่นตาหลายๆ อัน และเลือกคัดกรองว่าแว่นตาใดที่มีเสียเจือปนน้อยที่สุด เพื่อจะได้สะท้อนความจริงให้กับเราได้มากที่สุดเช่นกัน ผมอยากจะแนะนำสื่ออย่างหนึ่งที่มีอิทธิพลในทางบวกกับชีวิตของเราอย่างมากนั่นคือพระวจนะของพระเจ้า ในคำสอนของคนอสิ ราเอลการสะสมพระดำรัสของพระเจ้าและการให้ความใส่ใจในพระวจนะของพระองค์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และได้สอนวิธีที่จะทำให้พระวจนะอยู่ในใจของตัวเองและลูกหลานดังในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ 6:7-9 กล่าวว่า “และท่านจงสอนถ้อยคำเหล่านั้นแก่บุตรหลานของท่าน และจงพูดถึงถ้อยคำเหล่านั้นเมื่อท่านนั่งอยู่ในบ้าน เดินอยู่ตามทาง นอนลงหรือลุกขึ้น จงเอาถ้อยคำเหล่านี้ผูกไว้ที่มือของท่านเป็นหมายสำคัญ และคาดไว้ที่หน้าผากของท่านเป็นสัญลักษณ์ และจงเขียนถ้อยคำเหล่านี้ไว้ที่เสาประตูบ้าน และที่ประตูของท่าน” ซึ่งผมคิดว่าสำหรับในเรื่องนี้สามารถนำมาปรับใช้กับเราในฐานะผู้บริโภคสื่อผู้ต้องการฝังพระวจนะพระเจ้าให้มีอิทธิพลกับชีวิตทางบวกดังนี้

ประการแรก
“จดจำโดยการถ่ายทอด” เป็นเรื่องจริงที่ว่าเราจะจดจำข้อมูล หรือเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้น ถ้าเรารับหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลนั้นเสียเอง ผมยังจำได้ดีว่าครั้งแรกที่ผมถูกมอบหมายให้รณรงค์การให้ความรู้ทางเพศศึกษาแก่เด็กชั้นมัธยมฯ และอุดมศึกษา ผมต้องเตรียมตัวอย่างมากในการนำสื่อนี้ไปถ่ายทอดเพื่อสะกดใจผู้รับสื่อให้คล้อยตาม และเชื่อในแนวทางการรณรงค์ที่ผมต้องการ ไม่น่าเชื่อว่านับจากวันนั้นผมกลายเป็นผู้สอนเรื่องเพศศึกษามานานถึง 12 ปีแล้ว ทุกวันนี้ผมสอนได้โดยไม่ต้องอาศัยบันทึกย่อใดๆ เลย เพราะจำได้แทบขึ้นใจ และสามารถนำความรู้นี้ไปพลิกแพลง ดัดแปลงกับความรู้ใหม่อื่นๆ ได้อีกด้วย เรียกว่าให้เราทำตัวเองกลายเป็นสื่อเสียเองก็ว่าได้

ประการต่อมา
“จดจำโดยการภาวนา” ในพระวจนะบอกว่าให้เราพูดถึงถ้อยคำแห่งพระวจนะเมื่อเราอยู่ในบ้านไม่ว่าจะอยู่ในอากัปกิริยาใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว อย่างเช่นบ้านของเรา ไม่ว่าเราจะอยู่ในท่าทางใดเราสามารถที่จะภาวนาสิ่งที่เราต้องการให้มีอิทธิพลกับชีวิตเราได้ ผมนึกถึงสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา และยังไม่รู้จักกับพระเจ้า ตอนนั้นมีการสอบนักเรียนให้ท่องบทสวดบางอย่างซึ่งมีความยาวมากถึง 10-15 หน้า แน่นอนว่าผมคงไม่กล้าไปท่องบทสวดฯนี้ในที่สาธารณะ อย่างร้านอาหารตามสั่ง หรือตลาดสด เพราะแม่ค้าอาจเข้าใจผิดว่าผมเล่นของ หรือเล่นคุณไสยฯ อะไรสักอย่างอยู่หรือเปล่า แต่ผมใช้เวลาว่างในบ้านอ่านและท่อง นานวันเข้า ก็กลายเป็นความทรงจำที่ยึดแน่น จนกระทั่งทุกวันนี้เวลาได้ยินเสียงบทสวดนี้ทีไร สมองจะจำได้ทันที่าบทต่อไปจะมีข้อความว่าอย่างไร ทั้งๆ ที่บทสวดนั้นไม่มีภาษาไทยแม้แต่คำเดียว ขอบคุณพระเจ้าที่ผมถูกสอนให้ท่องพระวจนะทำให้พระวจนะนั้นๆ ที่ผมท่องมีอิทธิพลมากกับการตัดสินใจของผม ทำให้ผมกลายเป็นคนมีความมั่นคงในจิตใจมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นผลโดยตรงจากการภาวนา หรือท่องจำพระวจนะนั่นเอง

ประการที่สาม
 “จดจำโดยการนำไปใช้” ในมิชนาห์ของฟาริสีได้มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สะท้อนถึงพระคำในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นกลักพระคัมภีร์ที่ต่อสายหนังพันไว้รอบแขน และหนีบกลักพระคัมภีร์ไว้ใกล้หัวใจ หรือมัดกลักไว้ที่หน้าผากของคนๆ นั้นสำหรับผมนึกถึงการนำพระคัมภีร์ไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน มือและหน้าผาก สะท้อนถึงการไตร่ตรองและการลงมือกระทำทุกอย่างต้องคำนึงถึงมาตรฐานของพระคำของพระเจ้า สำหรับเรื่องนี้ผมเคยนำไปใช้แก้ปัญหาความกลัวของตัวเอง ในอดีตนั้นผมถูกปลูกฝังให้กลัวความืดและกลัวผีมาก แต่เมื่อผมได้สำนึกถึงพระวจนะที่ว่า “ในความรักนั้นไม่มีความกลัว แต่ความรักที่สมบูรณ์นั้นก็ขับไล่ความกลัวออกไปเสีย เพราะความกลัวเกี่ยวข้องกับการลงโทษ และผู้ที่กลัวก็ยังไม่มีความรักที่สมบูรณ์ (1 ยอห์น 4:18) ผมรู้ว่าพระเจ้าองค์เที่ยงแท้มีฤทธ์อำนาจเหนือทุกสิ่ง ผมไม่จำเป็นต้องกลัวเมื่อความรักของพระเจ้าครอบครองจิตใจของผม ดังนั้นทุกครั้งที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ผมเคยกลัว ผมจะระลึกถึงพระคำ.ตอนนี้อยู่เสมอ จนในที่สุดผมก็ไม่กลัวผีหรือความมืดอีกเลย

ประการสุดท้าย
“จดจำโดยการประชาสัมพันธ์” ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่บริษัททั่วไปลงทุนติดตามสถานที่ต่างๆ ด้วยเม็ดเงินมหาศาล หากสิ่งนั้นไม่มีผลกับจิตใจของคน หรือกลุ่มเป้าหมายของบริษัทสินค้านั้นๆ การทำเช่นนี้ก็คงเป้นเรื่องโง่เง่า และเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่ความจริงบริษัทโฆษณาและผู้ผลิตสินค้าต่างทราบความจริงในข้อนี้ดีว่า ป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่มีผลอย่างมากกับจิตใจของคนเรา ผมพูดถึง subliminal tape ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งไปยังจิตใต้สำนึกโดยตรงมาบ้างแล้ว หากเราใช้พระวจนะในการประชาสัมพันธ์ไม่ว่าจะติดที่ ในบ้าน ในคริสตจักร ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ สิ่งนั้นย่อมมีกับจิตใจและความคิดของเราอย่างแน่นอนก็เหมือนกับหนังสือพิมพ์มักจะพาดหัวข่าวใหญ่ๆ นั่นเอง แม้ข้อความนั้นในทางหลักภาษาศาสตร์จะถือเป็นการเรียงประโยคที่แย่มาก แต่ในทางจิตวิทยากลับเป็นข้อความที่ทรงพลังมาก ดังนั้นทุกครั้งที่เราจะเลือกมองอะไรอย่าลืมนึกถึงข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “ตาเป็นประทีปของร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าตาของท่านปกติ ทั้งตัวของท่านก็พลอยสว่างไปด้วย” (มัทธิว 6:22

ปัจจุบันนี้การเติบโตของสื่อเป็นไปด้วยความรวดเร็วอย่างยิ่ง มีช่องทางของสื่อหลายประเภทตอบสนองต่อบุคคลหลายๆ กลุ่ม Facebook หรือ twitter อาจดูเป็นของทันสมัยในวันนี้ แต่ในวันหนึ่งข้างหน้าก็จะมีสื่ออื่นๆ มาฉกฉวยความสนใจจากคนกลุ่มใหญ่ไปอีก ทุกครั้งที่เราบริโภคสื่อจึงต้องไม่ลืมว่า สื่อมีอำ.นาจสะกดจิตใจคนได้ นักการเมืองบางคนที่ผมไม่เคยพบสักครั้งในชีวิตกลับกลายเป็นคนที่ผมรักหรือเกลียดชังได้ในชั่วข้ามคืน หรือท่านเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่าเหตุใดเราจึงมักเชื่อว่าผู้หญิงที่ดีต้องเรียบร้อย และไม่แสดงความคิดเห็นให้มากนัก ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งหรือประเทศหนึ่งกลับเชื่ออีกอย่างที่ตรงกันข้ามกัน สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าผมบริโภคสื่อประเภทใด และคนที่สื่อต้องการสื่ออะไรให้กับผู้บริโภค คงจะเป็นการดีที่ทุกท่านจะมีสติยั้งคิด โดยอาศัยอิทธิผลจากพระวจนะ เพื่อถอดแว่นตาสีต่างๆ ในชีวิตเราออกเพื่อมองเฉพาะความจริง และตัดสินใจด้วยใจเที่ยงธรรม หลุมพรางที่น่ากลัวที่สุดสำหรับปัจจุบันนี้ก็คือหลุมพรางแห่งข้อมูล ซึ่งถูกเคลือบแฝงด้วยคำว่าสื่อ และยังเขียนโฆษณาอีกว่าสื่อของตนน่าเชื่อถือยิ่งกว่าสื่อใดๆ แต่ขอสติปัญญาจากพระเจ้าจะอวยพรให้ทุกท่านบริโภคสื่อ โดยไม่ต้องตกหลุมพรางแห่งข้อมูล ขอพระเจ้าอวยพรครับ

  • อ.วิทยา วุฒิไกรเกรียง
  • ภาพ Freepik