เปลวไฟ หรือ เปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น? 2/10

เปลวไฟ หรือ เปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น?

ท่านถาม ฝ่ายแปลตอบ ฉบับนี้มี 2 คำถาม 2 เรื่องที่ท่านสมาชิกถามเข้ามาอย่างน่าสนใจมาก และอยากได้รับคำตอบโดยเร็ว ผู้จัดทำจึงรีบนำมาลงในคอลัมน์นี้ให้ได้อ่านพร้อมกัน 2 คำถาม

ถาม ทำไมจึงใช้คำแปลว่าเปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น? เมื่อคำภาษาอังกฤษนั้นหมายถึงเปลวไฟ การใส่คำว่าสัณฐานเหมือนลิ้นทำให้ความหมายประหลาดไป และทำให้คำแปลเกินคำในภาษาอังกฤษ

ตอบ คำถามข้างต้นน่าสนใจและเป็นประเด็นสำคัญอันหนึ่งในการแปลพระธรรมกิจการบทที่ 2 ข้อ 3 แต่ก่อนจะตอบก็อยากจะให้ข้อสังเกตบางอย่างคือ 

  1. พระคัมภีร์ไทยทุกฉบับจะมีคำว่า “ลิ้น” กำกับอยู่กับคำว่า “เปลวไฟ” ได้แก่ เปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น (ฉบับ 1940, ฉบับ 1971 และฉบับคิงเจมส์) หรือ เปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น (ฉบับมาตรฐาน 2002 และฉบับของคณะกรรมการคาทอลิคเพื่อพระคัมภีร์) หรือ เปลวไฟรูปร่างเหมือนลิ้น (ฉบับประชานิยม) หรือ เปลวไฟรูปร่างคล้ายลิ้น (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)
  2. วลี “tongues of fire” ที่พบในพระคัมภีร์อังกฤษหลายฉบับนั้นเป็นสำนวนภาษา หมายถึง เปลวไฟ ใช่หรือไม่? อย่างไร?

สำหรับข้อสังเกตแรก ทำให้เราต้องย้อนกลับไปดูที่ภาษาเดิมในที่นี้คือ ภาษากรีก แล้วเราพบว่า หากแปลตรงตัวอักษรจะได้ว่า tongues as of fire ดังนั้นเราจึงพบว่า คำหลักคือ tongues (ลิ้น) ส่วนคำขยายเพื่อเปรียบเทียบคือ fire (ไฟ) แต่เราเกิดคำถามขึ้นว่า พวกสาวกเห็นอะไรในวันนั้น? พวกเขาเห็นลิ้นที่มีลักษณะคล้ายไฟ หรือเห็นไฟที่มีลักษณะคล้ายลิ้น อยู่บนพวกเขาแต่ละคน? แต่ความหมายน่าจะเป็นว่า พวกเขาเห็นสิ่งที่คล้ายเปลวไฟเล็กๆ ที่มีรูปร่างคล้ายลิ้นอยู่บนพวกเขาแต่ละคน

สำหรับข้อสังเกตที่สอง tongues of fire มิใช่สำนวนภาษาอังกฤษ แต่คงเป็นสำนวนฮีบรู ดู อิสยาห์ 5:24 ซึ่งหมายถึง เปลวไฟที่มีลักษณะคล้ายลิ้น มิใช่ลิ้นที่มีลักษณะคล้ายเปลวไฟ

ดังนั้น จึงขอสรุปว่า พระคัมภีร์ไทยแปลได้ดีแล้ว

  • อาจารย์ ปัญญา โชชัยชาญ
  • ภาพ Getty Images

ทำไม พระเยซูจึงไม่ทรงอนุญาตให้อัครทูต นำอะไรติดตัวไประหว่างเดินทางแพร่ธรรม เว้นแต่รองเท้ากับไม้เท้า?

ถาม จากพระธรรมมาระโก 6:7-13 เมื่อพระเยซูทรงส่งอัครทูตสิบสองคนออกไปแพร่ธรรม ทำไมจึงไม่ทรงให้พวกเขานำอาหาร ย่าม เงิน หรือ เสื้อสองตัวติดตัวไปด้วย เว้นแต่รองเท้าและไม้เท้าเท่านั้น? นอกจากนี้สิ่งของแต่ละอย่างนั้น มีความหมายพิเศษอะไรแฝงอยู่สำหรับสาวกหรือไม่? อย่างไร? อนึ่งปกติพระเยซูทรงสอนให้สาวกเตรียมพร้อม แต่ทำไมตรงนี้จึงไม่ทรงอนุญาตให้สาวกจัดเตรียมสิ่งที่จำเป็นในการเดินทาง? และหากไม้เท้าหักหรือเสียไป อัคร-ทูตจะทำอย่างไรดี เพราะเงินก็ไม่มี?

ตอบ เพื่อความชัดเจน ก็ขอสรุปรวบและแจกแจงคำถามข้างต้นดังนี้คือ 

  1. ทำไมพระเยซูไม่ทรงอนุญาตให้อัครทูตนำสิ่งจำเป็นต่อการเดินทางไปด้วยได้แก่ อาหาร ย่าม เงิน เสื้อสองตัว เว้นแต่รองเท้าและไม้เท้า ทั้งๆ ที่ปกติพระองค์จะสอนให้สาวกเตรียมตัวให้พร้อม?
  2. สิ่งของแต่ละอย่างที่ใช้ระหว่างทางนั้นสื่อความหมายพิเศษอะไรแก่พวกสาวกหรือไม่? อย่างไร?

คำถามที่สองตอบง่ายกว่าคำถามแรก ดังนั้นขอตอบว่า สิ่งของเหล่านั้นไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไรซ่อนอยู่เพื่อให้เราค้นหา ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องราวนี้มิใช่อุปมาหรือคำพยากรณ์ แต่เป็นเหตุการณ์จริง ดังนั้นจะตีความสิ่งของเหล่านั้น อาทิเช่น ไม้เท้า เป็นอย่างอื่น ย่อมไม่ได้ แต่หากพยายามจะตีความก็จะผิดได้ เพราะบริบทไม่ได้บีบรัดความหมายให้เป็นอย่างอื่น ผู้เขียนพระกิตติคุณไม่ว่าจะเป็นท่านมัทธิว ท่านมาระโก หรือ ท่านลูกามิได้มีวัตถุประสงค์อื่นเมื่อบันทึกเรื่องราวนี้ นอกจากจะนำเสนอให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับพันธกิจที่พระเยซูทรงมอบหมายแก่อัครทูตพร้อมกับแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ฉะนั้นเราจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อจะไม่เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์ผิดไปจากจุดประสงค์ดั้งเดิมของพระเจ้า

สำหรับคำถามแรกนั้น หากจะให้ได้ภาพที่สมบูรณ์ก็ต้องอ่านเรื่องราวเดียวกันกับที่ท่านมาระโกบันทึกนี้จากพระธรรมมัทธิวและพระธรรมลูกาด้วย นักวิชาการพระคัมภีร์เรียกพระธรรมมัทธิว พระธรรมมาระโก และพระธรรมลูกาว่า พระกิตติคุณ (หรือ พระวรสาร) สัมพันธ์ (หรือ พ้องกัน) ทั้งนี้เพราะทั้งสามท่านได้บันทึกเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ที่พ้องกัน คือ บันทึกเหตุการณ์เดียวกันด้วยสำนวนและจุดเน้นต่างกัน ยกตัวอย่างเรื่องพันธกิจของอัครทูตสิบสองคน ก็มีบันทึกใน มัทธิว 10:5-15, มาระโก 6:7-13 และ ลูกา 9:1-6 แต่เมื่ออ่านพระธรรมทั้งสามตอนประกอบกันก็ทำให้เรามีคำถามเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ พระธรรมมัทธิวและลูการะบุว่า พระเยซูตรัสสั่งมิให้อัครทูตนำสิ่งใดไปใช้ระหว่างทาง รวมทั้งรองเท้าและไม้เท้า (มัทธิว 10:9-10, ลูกา 9:3) ขณะที่พระธรรมมาระโกบันทึกว่า “พระองค์ตรัสกำชับพวกเขาไม่ให้เอาอะไรไปใช้ตามทาง เว้นแต่ไม้เท้า ไม่ให้เอาอาหาร หรือ กระเป๋า หรือ เงินใส่เข็มขัดไป แต่ให้สวมรองเท้า และไม่ให้สวมเสื้อสองตัว” (มาระโก 6:8-9) นั่นหมายความว่า พระเยซูทรงอนุญาตให้อัครทูตนำไม้เท้าและสวมรองเท้าได้ เมื่อเป็นอย่างนั้นความจริงคืออะไร? เราจะเชื่อใครดี? จะเชื่อท่านมัทธิวกับท่านลูกา? หรือ จะเชื่อท่านมาระโก?

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ก็อยากให้เราเข้าใจระบบการสร้างสาวกของพระเยซูที่พบในพระธรรมมาระโกเสียก่อน คือ

  1. พระเยซูทรงเลือกสาวกสิบสองคนเพื่อจะให้พวกเขาประกาศแผ่นดินของพระเจ้าและรักษาประชาชน แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือ พวกเขาต้องอยู่กับพระองค์ (มาระโก 3:13-19) กินนอนกับพระองค์ ไปกับพระองค์ เฝ้าสังเกตดูการกระทำ และสำเหนียกฟังถ้อยคำของพระองค์อย่างถ้วนถี่
  2. หลังจากเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง พระเยซูทรงส่งอัครทูตสิบสองคนออกไปทำงานเป็นคู่ๆ โดยทรงมอบสิทธิอำนาจในการขับผีแก่พวกเขา พร้อมกับคำสั่งเกี่ยวกับการเตรียมตัว และแนวทางการปฏิบัติงาน (มาระโก 6:7-13)
  3. เมื่อทำงานเสร็จแล้ว พวกอัครทูตสิบสองคนก็กลับมาทูลรายงานผลแก่พระเยซู และพระองค์ทรงให้พวกเขาหาที่พักสงบสักระยะเวลาหนึ่ง (มาระโก 6:30-32)

มาถึงตรงนี้ ก็ขอย้อนกลับไปตอบคำถามว่า พระเยซูทรงสั่งสาวกเกี่ยวกับการเตรียมตัวเดินทางแพร่ธรรมอย่างไร? ก็อย่างที่พรรณนามาข้างต้น เราพบคำสั่งในมาระโก 6:8, 9 ต่างจากใน มัทธิว 10:10 และ ลูกา 9:3 คำตอบคำถามนี้อยู่ในคำอธิบายพระธรรมมาระโก 6:8 ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ฉบับศึกษาของสมาคมพระคริสตธรรมไทย ความว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ มัทธิว 10:10 (“อย่าเอากระเป๋า หรือเสื้อสองตัว หรือรองเท้าอีกคู่ หรือไม้เท้า เพราะว่าคนที่ทำงานก็สมควรจะได้อาหารกิน”) ดูเหมือนว่า มาระโกบันทึกเรื่องไม้เท้าและรองเท้าแตกต่างจากมัทธิว เพราะมาระโกบันทึกทำนองว่า ให้เอาไม้เท้าและรองเท้าไปได้ แต่มัทธิวบันทึกว่าไม่ต้องเอาไป อาจเป็นได้ว่า มัทธิวไม่ได้ห้ามเอา 2 สิ่งนี้ไป เพียงแต่บันทึกว่า ไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้สำรองไปอีกชุดหนึ่ง อนึ่งเราพบคำอธิบายเกี่ยวกับ เสื้อสองตัว ในลูกา 9:3 ว่า โดยปกติคนที่ต้องค้างคืนในที่โล่งแจ้งมักจะใส่เสื้อชั้นในสองตัว แต่พระเยซูให้เอาไปเพียงตัวเดียว ไม่ต้องมีเสื้อสำรอง และทำไมจึงทรงสั่งเช่นนั้น? คำตอบก็อยู่ในคำอธิบายพระธรรมมัทธิว 10:10 และ พระธรรมลูกา 9:3 ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ฉบับศึกษา ซึ่งพอจะสรุปใจความได้คือ การที่พระเยซูทรงสั่งไม่ให้พวกสาวกเตรียมของไปใช้ระหว่างทาง ก็เพื่อสอนให้พวกสาวกรู้ว่า พระเจ้าจะเป็นผู้ประทานทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันแก่พวกเขา เมื่อพวกเขาทำงานรับใช้พระองค์ และในความเป็นจริง พวกสาวกก็ไม่ได้ขาดแคลนสิ่งจำเป็นใด แม้ไม่ได้จัดเตรียมไป พระธรรมลูกา 22:35 บันทึกว่า พระ​องค์​จึง​ตรัส​ถาม​พวก​สาวกว่า “เมื่อ​เรา​ใช้​พวก​ท่าน​ออกไป​โดย​ไม่​มี​ถุง​เงิน​หรือ​ย่าม​หรือ​รองเท้า​นั้น ท่าน​ขาด​อะไรบ้าง​ไหม?” พวก​เขา​ทูล​ตอบ​ว่า “ไม่​ขาด​เลย” เราจึงเห็นว่าผู้ที่ตั้งใจรับใช้พระเจ้าไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องการกินการอยู่ เพราะพระเจ้าจะทรงดูแลเขาอย่างดีแน่นอน

ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับศึกษาก็เป็นประโยชน์มากในการศึกษาหาความเข้าใจในพระดำรัสของพระเจ้า

  • อาจารย์ ปัญญา โชชัยชาญ